Newsเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน

มทร.พระนครรับนักศึกษาใหม่ปี 64 ปรับหลักสูตรปั้นนักสื่อสารตอบโจทย์ยุคดิจิทัล ตั้งรับสื่อปิด-เลย์ออฟ  พร้อมทำงานอิสระ 

ผศ.สหรัตน์ วงษ์ศรีษะ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า มทร.พระนครมีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพมายาวนาน ปัจจุบันได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย โดยเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอนดิจิทัล หรือการบูรณาการองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีศักยภาพสูง สามารถทำงานในสถานประกอบการหรือไปเป็นผู้ประกอบการได้ทันที  ขณะนี้มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาใหม่ระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS โดยรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 10 ก.พ. 2564 ส่วนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)  ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่จะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี  รอบที่ 2 โควต้า และ รับตรง รอบที่ 1 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าเข้าศึกษาต่อในระดับ ปวช. ประเภทรับตรง รอบที่ 1 รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 23 ก.พ. 2564 สนใจสมัครผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ http://www.rmutp.ac.th  หรือสอบถามได้ที่สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มทร.พระนคร โทร.0-2665-3777 ต่อ 6305,6307,6636

ด้าน ผศ.อรรถการ สัตยพาณิชย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มทร.พระนคร กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้รับสื่อที่รับชมโทรทัศน์น้อยลง แต่ใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น  เทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้ทุกคนเป็นผู้ผลิตเนื้อหาเองได้ เพียงใช้มือถือถ่ายภาพและตัดต่อด้วยตนเอง  ส่วนนักศึกษามีความสนใจทำงานในสถานประกอบการลดลง แต่อยากมีอาชีพอิสระมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ทางคณะต้องปรับหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต เพื่อตอบโจทย์โลกในยุคดิจิทัล  และสร้างนักสื่อสารในยุคดิจิทัลที่เป็นได้ทั้งนักสร้างเนื้อหาและผู้ประกอบการสื่ออิสระ มีความสามารถแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ภายใต้แนวคิดการหลอมรวมสื่อ (Media Convegence)

ผศ.อรรถการ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่ทางคณะปลูกฝังให้แก่บัณฑิตเทคโนโลยีหรือนักสื่อสารในยุคดิจิทัล คือ 4 DNA ได้แก่ DNA 1 การคิดและสร้างเนื้อหาที่นักศึกษาต้องเลือก หรือรู้ว่าอะไรที่จะเป็นข่าวได้หรือไม่ได้  ประเด็นไหนน่าสนใจและมีเงื่อนงำ  DNA 2  การผลิต คือนักศึกษาสามารถถ่ายภาพ  ตัดต่อด้วยมือถือ และเผยแพร่ได้ โดยนักศึกษาต้องรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของสื่อต่างๆ  ว่าเป็นอย่างไร มีความแตกต่างกันตรงไหน เพื่อจะได้ใช้สื่อได้ถูกต้อง  DNA 3 การเป็นผู้ประกอบการที่นักศึกษาจะต้องคำนวณต้นทุนการผลิต  คำนวณรายได้ และตั้งเป้าหมายการทำงาน  เช่น ถ้านักศึกษาอยากเป็นยูทูปเบอร์ (YouTuber) ต้องรู้เป้าหมายเงินเดือนที่ต้องการ ต้องทำกี่คลิปต่อเดือน แต่ละคลิปต้องมียอดผู้ชมจำนวนเท่าไหร่จึงจะได้เงิน  และ DNA 4 นักศึกษาต้องมีทักษะชีวิตหมายถึงการคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นผู้นำ มีความรู้ด้านกฎหมาย ความรับผิดชอบในหน้าที่ และต่อสังคม รวมถึงจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ นอกจากนี้ทางคณะได้ปรับรายวิชาให้เข้มข้นมากขึ้น  เน้นการฝึกปฏิบัติ มีความชำนาญเฉพาะในสาขา และมีการบูรณาการเชิงประยุกต์ด้วยการนำศาสตร์ต่าง ๆที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาเป็นหลักสูตรที่ทันสมัย พร้อมเรียนกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพโดยตรง

“สถานการณ์สื่อเปลี่ยนตลอด ที่ผ่านมาหลายสื่อได้ปิดตัวลง มีการปลดพนักงาน (Layoff) ทางคณะสอนให้นักศึกษารู้จักที่จะตั้งรับและวางแผนชีวิต ถ้าต้องเจอกับสถานการณ์เช่นนี้  เน้นให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติงาน เพื่อออกไปทำงานได้ทันที และเป็นผู้ประกอบการเองได้  มหาวิทยาลัยจึงมั่นใจว่านักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจะมีงานทำแน่นอน และนักศึกษายังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากหลักสูตรไปสร้างรายได้ตั้งแต่ระหว่างเรียนด้วยการทำสติกเกอร์ไลน์ขาย หรือทำยูทูบ ที่มียอดคนดูจำนวนมากทำให้มีรายได้ ส่วนอาชีพที่จะมารองรับก็มีให้เลือกหลากหลาย เช่น นักประชาสัมพันธ์ นักสื่อสารการตลาด  ผู้ประกอบการสื่อสารมวลชนอิสระ นักออกแบบเว็บไซต์ เจ้าของกิจการด้านมัลติมีเดีย นักผลิตงานข้ามสื่อ ผู้นำความคิดทางสื่อ บรรณาธิการข้ามสื่อ ผู้สื่อข่าว และนักออกแบบสื่อ เป็นต้น “ผศ.อรรถการ กล่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter