Researchเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์

คณะคหกรรมศาสตร์ ปิ๊งไอเดีย แปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบขลู่ เพิ่มมูลค่า อนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชตามรอยพระราชดำริ

ต้นขลู่ เป็นพืชท้องถิ่นที่ขึ้นง่าย ขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ งอกงามตามชายทะเล  แหล่งพรุ หรือป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะป่าชายเลนปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง ที่ชาวบ้านชุมชนนำมาแปรรูปทำ “ชาใบขลู่” ชาจากฝีมือชาวบ้าน ส่งขายไปทั่วประเทศ  จากตำราการแพทย์แผนไทย พบว่า ขลู่ถูกนำมาใช้เป็นพืชสมุนไพรไทยมาตั้งแต่อดีต  ทั้งใช้รับประทานเป็นผักเครื่องเคียง  ลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงคั่ว  นอกจากนี้ ยังนำใบไปตากแห้ง ใช้ทำเป็นชาดื่มแก้กระหายน้ำ ส่วนฤทธิ์ทางด้านสมุนไพรของขลู่นั้นมากมาย ทั้งช่วยแก้นิ่วในไต ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะผิดปกติ  แก้ริดสีดวงจมูก ช่วยขับนิ่ว และช่วยขับเหงื่อ

เพื่อเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาของคนไทย และเพื่อสนองพระราชดำริ ในการเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์ การสร้างจิตสำนึกรักษ์ในทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์  มทร.พระนคร ได้สนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) โดยจัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช โดยการบูรณาการงานคหกรรมศาสตร์ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ผ่านการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าใบขลู่เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ โดยการนำวัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่นมาประยุกต์เป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มความโดนเด่นของผลิตภัณฑ์จากขลู่ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

อาจารย์อนุสรณ์ ใจทน กล่าวว่า  การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่จากใบขลู่  เป็นส่วนหนึ่งในโครงการตามรอยพระราชดำริ เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช ซึ่งคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร ได้จัดการศึกษาดูงาน  ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวประแสโฮมสเตย์ ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นชุมชนผลิตชาจากใบขลู่ เพื่อให้นักศึกษามีองค์ความรู้ในการศึกษา ค้นคว้า และรวบรวมข้อมูลทางด้านพืชสมุนไพร สำหรับการพัฒนาและแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถอุปโภคหรือบริโภคให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาของคนไทย และเพื่อสนองพระราชดำริ ในการเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์ การสร้างจิตสำนึกรักษ์ในทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเหมาะสมที่สุด

อาจารย์อนุสรณ์ ใจทน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่นักศึกษาได้บูรณาการความรู้ จากการศึกษาดูงาน ได้แก่  ผลิตภัณฑ์ผงโรยข้าวจากใบขลู่ ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบผสมผสานระหว่างการทำผงโรยข้าวแบบญี่ปุ่นด้วยพันธุกรรมพืชของไทย โดยมี ผศ.ดร.น้อมจิตร สุธีบุตร  เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  ผลิตภัณฑ์สบู่ล้างมือใบขลู่   มีสรรพคุณช่วยกำจัดสิ่งสกปรก บรรเทาอาการคันจากแมลงสัตว์กัดต่อย  และผลิตภัณฑ์ยาดมสมุนไพร สำหรับแก้วิงเวียนศีรษะ  ช่วยให้ผ่อนคลาย  โดยมีอาจารย์ศักรินทร์ หงส์รัตนาวรกิจ  เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  “คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์คาดหวังว่าการศึกษาดูงานนอกเหนือจากการอนุรักษ์ ยังทำให้นักศึกษาได้รู้จักค้นคว้าวิจัยและเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์  ซึ่งเป็นการบูรณาการศาสตร์การเรียนการสอน สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์  รู้จักใช้ประโยชน์ตามความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรม และความปลอดภัยทางชีวภาพควบคู่ไปด้วย ส่วนด้านชุมชนสามารถนำผลิตภัณฑ์จากการบูรณาการไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน สร้างรายได้เพิ่ม และยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชุมชนให้คงอยู่ต่อไป” อาจารย์อนุสรณ์ กล่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter