Researchเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์

มทร.พระนครเจ๋ง!! วิจัยคลอโรฟิลล์จากผักตบชวา แปรรูปวัชพืชไร้ค่าสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ผักตบชวาเป็นวัชพืชน้ำที่ก่อปัญหาในแม่น้ำลำคลอง ทั้งก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย กีดขวางการไหลของน้ำ รวมไปถึงทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน  ทั้งนี้ผักตบชวาเป็นพืชน้ำมีลักษณะใบเดี่ยว ภายในมีรูพรุนคล้ายฟองน้ำ มีสีเขียวตลอดทั้งลำตัน  ซึ่งสีเขียวของผักตบชวา เป็นรงค์วัตถุซึ่งมีคลอโรฟิลล์เป็นส่วนประกอบอยู่  จึงทำให้  ผศ.ธนภพ โสตรโยม และทีมวิจัยคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เกิดแนวคิดในการนำประโยชน์จากผักตบชวามาทำเป็นคลอโรฟิลล์สกัดพร้อมชง  เพื่อเป็นตัวเลือกของผู้บริโภคที่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และใช้ประโยชน์จากผักตบชวาโดยการเพิ่มมูลค่าวัชพืชไร้ประโยชน์ให้หลากหลาย

ผศ.ธนภพ โสตรโยม ตัวแทนทีมวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันสามารถพบเห็นคลอโรฟิลล์ทั้งชนิดน้ำและผงออกมาจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย และได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพราะร่างกายคนเราสามารถนำเอาสารคลอโรฟิลล์ไปเป็นสารตั้งต้นในการสร้างเม็ดเลือดเมื่อร่างกายต้องการ โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดความบกพร่องในการสร้างเม็ดเลือดแดง เนื่องจากขาดสารอาหาร เช่น ภาวะโลหิตจาง แต่คลอโรฟิลล์สกัดที่วางจำหน่ายในท้องตลาด บางครั้งผู้บริโภคไม่อาจรู้ได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นสกัดมาจากพืชชนิดใด ทำให้บางครั้งอาจเกิดความน่าเชื่อถือลดน้อยลง จากการศึกษาคลอโรฟิลล์สกัดพร้อมชงจากผักตบชวา โดยได้วิเคราะห์สมบัติทางเคมีของปริมาณคลอโรฟิลล์ที่สกัดได้  ซึ่งใช้เอทิลแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย การศึกษาอุณหภูมิที่เหมาะสมในการอบสารสกัด การวิเคราะห์คุณภาพทางประสาทสัมผัส การวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพ การศึกษาปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสม รวมถึงสารตกค้างที่อาจเป็นอัตราย

โดยขั้นตอนการผลิตคลอโรฟิลล์สกัดพร้อมชงจากผักตบชวา ประกอบด้วย  คัดเลือกใบผักตบชวาออกจากก้าน  นำมาล้างด้วยน้ำสะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ และบดให้ละเอียด  แล้วจึงนำมาแช่เอทิลแอลกอฮอล์ในอัตราส่วนผักตบชวา 1:1 เป็นเวลา 7 ชั่วโมง  แล้วจึงกรองเอากากออก และนำส่วนที่ได้เข้าเครื่องระเหยสุญญากาศ  นำสารสกัดของเหลวข้นที่ได้กรองด้วยกระดาษกรอง  แล้วนำมาแผ่ลงบนถาด และนำไปอบด้วยเครื่องอบลมร้อน  จากนั้นนำไปบดเป็นผงให้ละเอียด นำผงที่ได้มาละลายน้ำ นำไปตั้งไฟ และนำไปทำให้เข้มข้นโดยผสมกับน้ำตาลทรายขาว เมื่อเริ่มตกผลึกจึงเติมมอลโตเดกซ์ตริน เพื่อป้องกันการเกาะเป็นก้อน จากนั้นนำมาบดเป็นผง และบรรจุใสถุงอลูมิเนียมฟอยล์

ผศ.ธนภพ โสตรโยม กล่าวว่า  จากการทดลองพบว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้เอทิลแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายในการสกัด คือ 5 ชั่วโมง จะได้ปริมาณคลอโรฟิลล์สีแดง-เขียว (a) = 0.56±0.54 และคลอโรฟิลล์สีเหลือง-น้ำเงิน (b)= 0.82±0.64 ส่วนการศึกษาคุณภาพทางประสาทสัมผัสที่มีผลต่ออุณหภูมิในการอบแห้ง 3 ระดับ  คือ 50 60 และ 70 องศาเซลเซียส พบว่า อุณหภูมิที่ 60 องศาเซลเซียส ผู้ทดสอบชิมให้การยอมรับมากที่สุดในทุก ๆ ด้าน  ส่วนการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ ค่าความสว่าง จาก 0-100 ค่าสีดำ-เขียว (L*) =74.40±2.80 ค่าสีแดง (a*) = -1.03±0.32 และค่าสีเหลือง (b*) = 23.91±1.01 ค่าแสดงระดับพลังงานของน้ำ (Water Activity) aw = 0.42±0.05 และค่าความชื้น = 3.99±0.42 และไม่พบสารเคมีตกค้างที่เป็นอัตรายต่อผู้บริโภค  ส่วนการศึกษาปริมาณน้ำตาลที่ใส่ลงในคลอโรฟิลล์สกัดพร้อมชง พบว่า สูตรที่มีปริมาณน้ำตาลทรายต่อน้ำคลอโรฟิลล์สกัด ผู้ทดสอบชิมให้คะแนนความชอบในด้านรสชาติ ที่มีปริมาณน้ำตาลทรายที่ร้อยละ 20 มากที่สุด

“ในอนาคตผมมองว่า จะมีผู้วิจัยนำผลิตภัณฑ์คลอโรฟิลล์สกัดพร้อมชงจากผักตบชวา ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมถึงนำผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์หาปริมาณสารอาหารอื่น ๆ อีก  ซึ่งเป็นการต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าวัชพืชไร้ค่าเหลือทิ้งที่มีมากมายในประเทศไทย และสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพใหม่ ๆ ที่หลากหลายเพื่อเป็นตัวเลือกในการบริโภคให้กับประชาชนที่มองหาผลิตภัณฑ์สำหรับสุขภาพที่หลากหลายต่อไป”  ผศ.ธนภพ โสตรโยม กล่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter