News

ราชมงคลพระนคร เปิดหลักสูตรการศึกษาใหม่ จำนวน 7 หลักสูตร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร เปิดหลักสูตรการศึกษาใหม่ จำนวน 7 หลักสูตร ได้แก่ สุขภาพเครื่องสำอางและการชะลอวัย การเป็นผู้ประกอบการ สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสิ่งทอ สถิติสารสนเทศ นวัตกรรมธุรกิจบริการยั่งยืน คหกรรมศาสตร์ศึกษา เน้นเรียนจริง ปฏิบัติจริงภายใต้ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม

หลักสูตรแรกคือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทำหลักสูตรใหม่ ทางด้านสุขภาพ เครื่องสำอาง การชะลอวัยเพื่อรองรับศาสตร์แห่งสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี 3 ปีครึ่ง ตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ  โดยเปิดรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 6 หรือเทียบเท่า หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ  (ปวช.)  ผู้เรียนจะได้ศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์แห่งการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ด้านกัญชาศาสตร์ วัตถุดิบและสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ  การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย เทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตและการควบคุมคุณภาพ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการเริ่มต้น  และยังเปิดรับผู้ที่ต้องการเข้ามาเพิ่มพูนความรู้ Upskills/Reskills ภายใต้ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้ สามารถนำไปประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาได้ อาทิ นักวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและการชะลอวัย นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ผ่ายผลิตและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสุขภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้ผลิตและแปรรูปสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพร หรือผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกสินค้าและวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย โทรศัพท์ 0 2836 3000 ต่อ 4156, 4159 หรือ เว็บไซต์ https://www.facebook.com/hcatscirmutp

หลักสูตรที่สองคือ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ คณะบริหารธุรกิจ โดยเปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีบุคลิกการเป็นผู้ประกอบการ โดยตลอดหลักสูตรนักศึกษาจะได้เรียนรู้ทั้งทางด้านวิชาการ และการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านรายวิชาที่น่าสนใจ อาทิ การสร้างธุรกิจใหม่และนวัตกรรม โลกของสตาร์ทอัพ สถิติเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ สตาร์ทอัพกับการระดมทุน สำหรับหลักสูตรดังกล่าวได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และประสบการณ์ให้กับผู้เรียน เมื่อสำเร็จการศึกษานักศึกษาสามารถประกอบอาชีพ ได้แก่ ผู้ประกอบการ นักวิเคราะห์และวางแผนด้านการประกอบธุรกิจ นักพัฒนาธุรกิจ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bus.rmutp.ac.th/course/ หรือโทร  0 2665 3777 ต่อ 2101-3

หลักสูตรที่สามคือ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เปิดหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ทลบ.) ด้านสื่อสารมวลชน หลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี (ต่อเนื่อง) รองรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  หรือผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการและต้องการเข้ามา Upskill  หรือเพิ่มวุฒิให้เป็นระดับปริญญาตรีสำหรับใช้ในอาชีพการงาน  โดยหลักสูตรนี้ต้องการขยายโอกาส ให้กับผู้ที่อยู่ในระบบแรงงานที่สนใจเข้าศึกษาต่อ ในหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (ไฮปริด) วันธรรมดาเรียนแบบออนไลน์ ตอนเย็นหลังเลิกงาน และวันอาทิตย์เรียนที่มหาวิทยาลัยฯ เพื่อฝึกปฏิบัติในด้านวิชาชีพขั้นสูง โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาสามารถออกไปประกอบอาชีพได้หลายแขนง เช่น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ยูทูบเบอร์  ผู้ประกอบการอิสระขายสินค้าออนไลน์  โดยทั้งสองหลักสูตรนี้เหมาะกับการทำงานยุคใหม่ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถนำไปประยุกต์กับการงานที่ทำอยู่ได้อย่างแน่นอน  ทั้งนี้คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน  กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2566  โควตารอบที่ 2 และรับตรง 1 เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ -  22 กุมภาพันธ์ 2566  ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://regis.rmutp.ac.th/  หรือโทรศัพท์ 0 2665 3777 ต่อ 6820 , 6861

หลักสูตรที่สี่คือ หลักสูตรเทคโนโลยีมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและแฟชั่น คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ซึ่งมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ด้านวิชาการ และการวิจัยขั้นสูง สามารถทำงานต่อยอดงานวิจัยหรือการสร้างนวัตกรรมในสถานประกอบการได้อย่างดี ผ่านกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ วางแผนบริหารจัดการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอ เครื่องนุ่มห่มและแฟชั่นเป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติ ผ่านรายวิชาที่หลากหลายและน่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมเส้นใยชีวภาพจากทรัพยากรหมุนเวียน  เทคโนโลยีสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและการออกแบบ วิทยาการเส้นใยไหมและกัญชง เป็นต้น เพื่อรองรับกระแสอุตสาหกรรมแฟชั่นในอนาคต โดยมีอาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และงานวิจัย ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น   0 2665 3555 ต่อ 3053 หรือ https://www.itfd.rmutp.ac.th

หลักสูตรที่ห้าคือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจัดการเรียนการสอนด้านสถิติเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจ การใช้สถิติประกอบการวางแผนและการตัดสินใจจะช่วยลดความเสี่ยงจากข้อผิดพลาดในการดำเนินงาน สถิติจึงมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในทุกสาขาวิชา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารมีขนาดใหญ่ องค์กรที่ได้รับสารสนเทศที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนและการตัดสินใจให้มีความถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน บุคลากรจำเป็นต้องมีความรู้ด้านพื้นฐานสถิติเป็นอย่างดี สามารถวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) และนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสรุปผล นำเสนอข้อมูล และเขียนโปรแกรมสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ (start up) ได้ในอนาคต และเป็นการเพิ่มทักษะความรู้ทางด้านอุตสาหกรรม สื่อสังคม (Social media) และการดำเนินธุรกิจโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E–Commerce) ผู้สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทรศัพท์ 0 2836 3000 ต่อ 4156, 4159

หลักสูตรที่หกคือ บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมธุรกิจบริการยั่งยืน คณะบริหารธุรกิจ ระดับปริญญาตรี 4 ปี เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและกำลังถูกดิสรัปชัน (Disruption) อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง รวมไปถึงเทรนด์ของตลาดแรงงาน สาขาวิชานวัตกรรมธุรกิจบริการยั่งยืน จึงต้องการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สำหรับแนวทางการประกอบอาชีพ ได้แก่ หุ้นส่วนหรือเจ้าของธุรกิจใหม่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถบริหารสุขภาวะที่ดีขององค์การที่ใช้นวัตกรรมธุรกิจ บริการยั่งยืนยุคโลกาภิวัตน์ดิจิทัล อาชีพด้านการบริหารสุขภาวะที่ดีขององค์กรที่ใช้นวัตกรรมธุรกิจบริการยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศ เช่น ผู้บริหาร ผู้บริการ หรือ นักการตลาดและขายสินค้าในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และธุรกิจทั่ว ๆ ไป พนักงานในธุรกิจโรงแรม พนักงานในธุรกิจท่องเที่ยว พนักงานในธุรกิจสปา พนักงานในธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ พนักงานในธุรกิจการจัดกิจกรรม ฯลฯ เพราะถือเป็นการฝึกประสบการณ์ตรงและเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักบริหารสุขภาวะที่ดีขององค์การสมัยใหม่ที่อิงระบบและกลไกทั่วโลก ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bus.rmutp.ac.th/course/ หรือโทร 0 2665 3777 ต่อ 2101-3

หลักสูตรที่เจ็ดคือ หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคหกรรมศาสตรศึกษา คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ โดยการเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าว เป็นการฝึกฝนให้ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา เป็นผู้นำทางวิชาการ ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตใหม่ และผลิตบัณฑิตที่มีทักษะในวิชาชีพครู สามารถถ่ายทอดความรู้ด้านคหกรรมศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ และเป็นผู้นำทางวิชาการ ด้านทฤษฎีและปฏิบัติในงานคหกรรมศาสตร์ สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางการศึกษาด้านคหกรรมศาสตร์ ซึ่งนักศึกษาจะได้ฝึกประสบการณ์จากปฏิบัติการสอนจริง หลังจบการศึกษาสามารถประกอบอาชีพ ครูและอาจารย์ด้านคหกรรมศาสตร์ วิทยากรฝึกอบรมวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ นักพัฒนาชุมชน ประกอบอาชีพอิสระทางคหกรรมศาสตร์ ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://hec.rmutp.ac.th/หรือโทร 0 2665 3888 ต่อ 8286

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter