News

ร.ร.วรนารีเฉลิม คว้าแชมป์ประกวดสื่อ To Be No.1 สมัย 2

คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร จัดโครงการประกวดคลิป TikTok หัวข้อ “เป็นหนึ่ง ไม่พึ่งยา” โครงการประกวดสื่อ To Be No.1 ครั้งที่ 13 รอบสุดท้าย ณ มทร.พระนคร ศูนย์เทเวศร์ โดยผลการตัดสินปรากฏว่า ทีม มาลัยทีม (Malai team) ประกอบด้วย นางสาวณัฏฐา เพ็ชรยิ่ง นายกิตติพันธ์ ตุกชูแสง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนายยศกร ช่วยชาตรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา คว้ารางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และได้รับการโหวตสูงสุดในรางวัลเนื้อหาภาพยนตร์สั้นต่อต้านยาเสพติดยอดเยี่ยม ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม RAJA Channel No.1 โรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ และทีม GIRL โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม มนว. โปรดักชั่น B โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ กรุงเทพฯ และทีม 7PUB โรงเรียนสะเมิงพิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ และอีกหนึ่งรางวัลพิเศษรางวัลยอดนิยม (Popular Vote) ทีมที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ทีม RAJA Channel No.2 โรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ

ผศ.อรรถการ สัตยพาณิชย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสามวลชน เปิดเผยว่า กิจกรรมการประกวดโครงการประกวดสื่อ To Be No.1 จัดขึ้นอย่างยาวนานโดยในช่วงแรก ๆ
คณะได้จัดประกวดในรูปแบบมิวสิควิดีโอ พัฒนามาสู่การประกวดภาพยนต์สั้น และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปพฤติกรรมผู้ชมวิดีโอที่สั้นลง ซึ่งเห็นได้ชัดจากผู้ใช้แอปพลิเคชัน TikTok ดังนั้นคณะจึงปรับรูปแบบการประกวดเพื่อให้นักเรียนที่เข้าร่วมได้ใช้ศิลปะในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง การเล่าเรื่องที่กระชับ สนุกสนาน พร้อมกับได้ข้อคิด การตระหนักถึงสารเสพติด และในแต่ละปียังได้เห็นถึงการพัฒนา ความตั้งใจผ่านการผลิตคลิปวิดีโอ แต่เหนือสิ่งอื่นใดนักเรียนที่ได้เข้าร่วมทุกทีมจะได้ค้นหาตนเอง จากการลงมือปฏิบัติจริง แม้บางทีมจะพลาดรางวัลก็ไม่ต้องท้อแท้ ขอให้เวทีนี้เป็นเครื่องการันตีความตั้งใจของผู้เข้าร่วมประกวด ขอให้หมั่นพัฒนาตนเอง

ด้านนางสาวณัฏฐา เพ็ชรยิ่ง หรือน้องเกด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ตัวแทนกลุ่ม มาลัยทีม เล่าว่า รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด นับเป็นถ้วยรางวัลชนะเลิศครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งทุกขั้นตอนในการผลิตคลิปวิดีโอสั้นล้วนมาจากความตั้งใจ การเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ใช้ระยะเวลาในการเตรียมตัวหลายเดือน โดยแบ่งการเตรียมงานเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มต้นจากการวิเคราะห์โจทย์ การหาแนวคิดหลักในการนำเสนอเนื้อเรื่อง กติกาการตัดสิน และต่อมาการเขียนบท สตอรี่บอร์ด จัดหานักแสดง สุดท้ายเรื่องการถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยประสบการณ์การทำงานจากงานโสตทัศนศึกษาของโรงเรียน ซึ่งทุกคนในกลุ่มจะเป็นสมาชิกช่วยเหลืองานโรงเรียนอยู่เป็นประจำจึงเข้าใจการผลิตคลิปวิดีโอมากขึ้น

“สำหรับคลิปวิดีโอเรื่องทางที่เลือกเติม...คิดสิคิดสิ ต้องการแสดงให้เห็นความแตกต่างของบุคคลที่เติมความรู้เข้าสู่สมองกับบุคคลที่เติมสารเสพติดเข้าสู่ร่างกาย หากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ยั้งคิดอาจทำให้ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้อีก นอกจากนี้ในเรื่องยังเลือกใช้คำว่าเต็มคาราเบล เพราะเป็นอาการของคนเมายาอย่างเติมที่ ซึ่งเป็นคำศัพท์ยอดนิยมในโลกออนไลน์ในช่วงเวลานี้ โดยหวังว่าผู้ชมได้ตระหนักถึงโทษการใช้สารเสพติดซึ่งเป็นอัตรายถึงชีวิต และอีกหนึ่งความตั้งใจคือนอกจากผลิตสื่อเพื่อการบันเทิงแล้ว ยังอยากเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการเตือนสติผู้คนในสังคมให้ตระหนักเห็นความสำคัญของการยั้งคิดยั้งทำ ทั้งนี้ผลงงานดังกล่าวจะไม่สำเร็จหากขาด อาจารย์กาญจนา พรมประถม และอาจารย์วุฒิพงศ์ ธนชิตชัยกุล ที่ปรึกษาการผลิตคลิปวิดีโอ” ณัฏฐากล่าวทิ้งท้าย

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter