Events

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ครั้งที่ 34 และ ครั้งที่ 35

กำหนดการ พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร

Q-A (ถาม-ตอบ) พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

Q : หากมีความประสงค์ไม่ขอเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจะต้องดำเนินการอย่างไร

A : สำหรับนักศึกษาที่ประสงค์ไม่ขอเข้ารับฯ ให้นักศึกษาดำเนินการดังนี้

1. ดาวโหลดแบบฟอร์ม ตามลิงก์นี้ https://drive.google.com/file/d/1p36iGMg4S2ZHKIOb9eDCptACeQ3tsgqx/view?usp=sharing 2. กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้ถูกต้องส่งมาที่ Sureeporn.r@rmutp.ac.th ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565

 

Q : บัณฑิตมีความประสงค์ขอเปลี่ยนคำขานนามบัณฑิต จะดำเนินการอย่างไร

A : หมดเขตการยื่นคำร้องขอเปลี่ยนคำนำหน้านามในการขานนามบัณฑิต ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 64 หากบัณฑิตมีความประสงค์ขอเปลี่่ยนคำนำหน้านามในการขานามบัณฑิต สามารถดำเนินการขอเข้ารับและขอเปลี่ยนคำนำหน้านามในการขานนามบัณฑิต ในครังที่ 36 ปีการศึกษา 2564

 

Q : หากไม่สามารถเข้าฝึกซ้อมได้ในวันซ้อมย่อยคณะ ซ้อมย่อยรวมและซ้อมใหญ่ จะดำเนินการอย่างไร

A : หากขาดการฝึกซ้อมครั้งใดครั้งหนึ่งจะไม่อนุญาตให้เข้ารับทุกกรณี เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องฝึกซ้อมบัณฑิตทุกท่านอย่างเคร่งครัดเพื่อความเป็นระเบียบและพร้อมเพรียงกัน

 

Q : หากในครั้งที่ 34 ปีการศึกษา 2562 และครั้งที่ 35 ปีการศึกษา 2563 ขอไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และในครั้งที่ 36 ปีการศึกษา 2564 จะขอเข้ารับได้หรือไม่

A : สามารถขอเข้ารับได้ แต่ต้องรอประกาศจากทางมหาวิทยาลัยฯ ว่าสามารถยื่นคำร้องขอเข้ารับได้ในช่วงไหน

 

Q : บัณฑิตตั้งครรภ์ สามารถเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้หรือไม่

A : สามารถเข้ารับได้หากยังไม่ถึงกำหนดคลอด ทั้งนี้หากตั้งครรภ์ในช่วงแรกต้องประเมินตัวเองว่ามีอาการแพ้มากน้อยแค่ไหน และสำหรับบัณฑิตตั้งครรภ์จะต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าสามารถเข้ารับได้ แต่หากยังไม่พร้อมเข้ารับด้วยสถานการณ์ COVID และด้วยความปลอดภัย บัณฑิตสามารถทำเรื่องขอไม่เข้ารับ ได้ภายในวันที่ 14 ก.พ. 65 แล้วค่อยดำเนินการขอเข้ารับในครั้งถัดไป

 

Q : รายชื่อการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรสามารถตรวจสอบได้ทางไหน

A : สามารถติดตามทางเพจสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน

 

Q : สำหรับบัณฑิตที่ประสงค์ไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จะสามารถรับใบปริญญาบัตรได้ในช่วงไหน

A : ครั้งที่ 34 รับที่สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ชั้น 4 ศูนย์เทเวศร์ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 8:30 – 16:30 น. เป็นต้นไป (ยกเว้นวันพฤหัสบดีที่ 17 – วันพุธที่ 23 มีนาคม 2565)

 ..ครั้งที่ 35 รับที่สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ชั้น 4 ศูนย์เทเวศร์ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 8:30 – 16:30 น. เป็นต้นไป

 

Q : กรณีพระสงฆ์สามารถเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้หรือไม่

A : หากยังสถานภาพเป็นพระภิกษุอยู่ ณ ขณะนั้น จะไม่สามารถเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้

 

Q : บัณฑิตตกค้างมีความประสงค์จะยื่นคำร้องขอเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ทันหรือไม่

A : หมดเขตยื่นคำร้อง ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 64 บัณฑิตสามารถยื่นคำร้องขอเข้ารับได้ใน ครั้งที่ 36 ปีการศึกษาก 2564 ทั้งนี้รอประกาศจากทางมหาวิทยาลัยฯ

 

Q-A (ถาม-ตอบ) การแต่งกายบัณฑิตในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

Q : บัณฑิตที่เป็นเพศทางเลือกสามารถแต่งกายตามเพศสภาพและเพศวิถีของตนเองได้หรือไม่

A : บัณฑิตสามารถแต่งกายตามเพศสภาพและเพศวิถีของตนเองได้ โดยจะต้องแจ้งให้คณะทราบล่วงหน้า
ก่อนวันซ้อมย่อยของแต่ละคณะและจะต้องแต่งกายให้ถูกต้องตามเพศสภาพนั้น ๆ

อ้างอิง : ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายนักศึกษา พ.ศ. 2564 ข้อ 12 เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยถูกจำกัดสิทธิ
การแต่งกายตามเพศสภาพ ให้นักศึกษามีสิทธิแต่งกายในการเข้าชั้นเรียน การสอบวัดผล การฝึกปฏิบัติงาน รวมทั้งการรับพระราชทานปริญญาบัตรตามเพศสภาพของตนได้ ตามลักษณะเครื่องแต่งกายที่กำหนดไว้ใน ข้อ 5 ข้อ 6
ข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9

 

Q : ทรงผมของบัณฑิตมีข้อกำหนดอย่างไร

A : บัณฑิตหญิงกำหนดสีผมเป็นสีดำเท่านั้น ผมยาว รวบเก็บผมให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยออกมาเป็นหางม้า หรือสวมมวยผมปลอมที่มีขนาดใหญ่  ผมสั้น รวบผมเปิดใบหน้าด้านซ้าย ไม่มีเครื่องประดับบนศีรษะ และไม่ทำทรงผมที่มองเห็นหนังศีรษะชัดเจน (แสกผมได้ไม่เกิน 2 นิ้ว)

.....บัณฑิตชายกำหนดสีผมเป็นสีดำเท่านั้น ตัดผมสั้นทรงสุภาพ ไม่ยาวเกินท้ายทอย เซตผมเปิดหน้าไม่ปล่อยผมลงมาปรกหน้า ไม่รุ่มร่าม ไม่ปิดหน้าด้านซ้าย และต้องมองเห็นใบหู

 

Q : ใบหน้าของบัณฑิต (การแต่งหน้า)

A : บัณฑิตหญิงแต่งหน้าโทนสีธรรมชาติ ไม่ติดขนตาปลอม ห้ามกรีด Eyeliner เปลือกตาไม่ทาสีเข้ม หรือทำให้มีประกายแวววาว

.....บัณฑิตชายไม่ไว้หนวดเครา

 

Q : บัณฑิตที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา

A : หากสวมแว่นตา ต้องเป็นเลนส์ใส กรอบและขาแว่นต้องเป็นสีสุภาพ สีดำ น้ำตาล เงิน ทอง เทา กรมท่า และไม่มีลวดลาย

 

Q : เสื้อและกระโปรงบัณฑิตหญิงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

A : เสื้อเชิ้ตคอปกสีขาว แขนสั้น ผ่าอกตรงโดยตลอด ไม่มีลวดลาย ไม่รัดรูป ไม่มีสาบหน้า สาบหลัง สาบแขน ปลายแขนปล่อยตรง ไม่ผ่าแขน ตัวเสื้อมีความยาวสามารถสอดในกระโปรงได้ สวมเสื้อกล้ามทับในสีขาว ทรงสุภาพ ไม่มีลวดลาย ไม่บางเกินสมควร และไม่สวมเสื้อชั้นในสีฉูดฉาด หรือสีเข้ม/ กระโปรงยาวทรงตรง เอวสูง ความยาวคลุมเข่า สีกรมท่า ด้านหลังผ่าป้ายแบบสุภาพ ไม่รัดรูป

 

Q : เสื้อและกางเกงบัณฑิตชายที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

A : เสื้อราชปะแตนสีขาว หากสวมเสื้อด้านในต้องเป็นสีขาวไม่มีลวดลาย/ กางเกงขายาวสีขาว แบบสากลทรงสุภาพ  หากสวมกางเกงทับใน ต้องไม่มีสีฉูดฉาดหรือสีเข้ม และไม่มีลวดลาย

 

Q : การแต่งกายบัณฑิตที่เป็นข้าราชการ

A : แต่งกายชุดเครื่องแบบข้าราชการปกติขาว/ บัณฑิตที่รับราชการทหาร ตำรวจ ให้แต่งกายตามต้นสังกัด ถือกระบี่ ถุงมือ และจะต้องตัดผมสั้นตามระเบียบกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

Q : รองเท้าสำหรับบัณฑิตเป็นรูปทรงใดและความสูงเท่าไหร่

A : รองเท้าสำหรับบัณฑิตหญิง รองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำ ทรงหัวตัด ไม่มีเครื่องประดับหรือไม่มีลวดลาย ความสูงไม่เกิน 2 นิ้ว และต้องสวมถุงน่องสีเนื้อเต็มตัว
.....รองเท้าสำหรับบัณฑิตชาย รองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำ ทรงหัวตัด แบบสวม ไม่มีเชือก ไม่มีโลหะ ไม่มีเครื่องประดับ หรือลวดลาย และต้องสวมถุงเท้าสีดำยาวครึ่งแข้ง

 

Q : บัณฑิตหญิงมีครรภ์ต้องปฏิบัติอย่างไร

A : บัณฑิตที่อายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน จะต้องนำใบรับรองแพทย์ ซึ่งแพทย์ระบุอายุครรภ์ และสุขภาพของบัณฑิต มาแสดงเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าหรืออาจารย์ของคณะที่บัณฑิตสังกัดในวันฝึกซ้อมย่อยคณะ เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter