Research

มทร.พระนคร แปรรูปเส้นใยใบอ้อย สู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ลดการเผาทำลาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากเดิมที่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย นิยมเผาทำลายซากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต    ซึ่งการเผาซากส่วนเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5  ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว และ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ อาจารย์สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงได้ศึกษาการกำจัดเศษซากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม โดยนำทฤษฎีนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) มาพัฒนาเป็นเส้นใยจากใบอ้อยเพื่องานสิ่งทอ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการในการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยอ้อยย้อมสีธรรมชาติ  โดยศึกษาองค์ประกอบที่เหมาะสมต่อการผลิตเส้นใยจากใบอ้อย และย้อมสีธรรมชาติ นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเกิดเป็นสินค้าในรูปแบบใหม่ที่คงเอกลักษณ์ท้องถิ่น แต่มีมาตรฐานสากล โดยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยโครงการท้าทายไทยเพื่อจัดการความรู้เพื่อใช้ประโยชน์เชิงชุมชนสังคม ประจำปี 2564  จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอ ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ทำการปลูกอ้อยเป็นพืชเศรษกิจหลัก และยังดำเนินการทอผ้า ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่  และเพื่อแก้ปัญหาในการขาดเอกลักษณ์ ความเป็นท้องถิ่นทางด้านภูมิปัญญาการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติของชุมชนที่กำลังจะสูญหายไป จึงทำการวิจัย “การพัฒนากระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอตามแนวคิดนิเวศเศรษฐกิจ"  ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้แก่เกษตรกร และนำเสนอทางเลือกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อลดการเผาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการนำใบอ้อยซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นเส้นใย และพัฒนางานสิ่งทอให้เกิดเป็นสินค้าในรูปแบบใหม่ที่คงเอกลักษณ์ชุมชนในการทอผ้า โดยการนำกระบวนการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าไปเสริมจากเดิมที่มีอยู่ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง

ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว กล่าวว่า  การพัฒนาเส้นใยจากใบอ้อยเพื่องานออกแบบสิ่งทอ เป็นการศึกษาเส้นใยผสมจากเส้นใยใบอ้อยและเส้นใยฝ้าย เพื่อสร้างเส้นด้ายสำหรับนำไปใช้ในงานสิ่งทอ โดยนำเส้นใยฝ้าย เป็นตัวช่วยในการปั่นเกลียวแบบหัตถกรรมร่วมกับวัตถุดิบหลัก คือเส้นใยใบอ้อยหลังแปรสภาพ โดยอาศัยทฤษฎี Triaxial blend ในการกำหนดอัตราส่วนผสมของวัตถุดิบ จากนั้นนำเส้นด้ายไปทอด้วยกี่มือ โดยขั้นตอนการเตรียมเส้นใยอ้อย เริ่มจากการคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่ให้เส้นใยโดยใช้ใบอ้อยพันธุ์ LK92-11 ซึ่งมีความยาวใบเฉลี่ย 100 - 120 เซนติเมตร ความกว้างเมื่อใบคลี่เต็มที่เฉลี่ย 7 เซนติเมตร  และมีระยะปลูก 6 - 8 เดือน เป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใย จากนั้นฉีกแกนกลางใบอ้อยทิ้งล้างให้สะอาด และผึงลมให้สะเด็ดน้ำ  นำใบอ้อยที่เตรียมไว้แช่หมักในน้ำหมักชีวภาพ (ค่า pH 1.5 - 2) เจือจางด้วยน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ (ค่า pH 5 - 5.6) อัตราส่วน 80 : 20 โดยปริมาตร 50 ลิตร ในถังพลาสติกระบบเปิด - ปิด เป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างการแช่หมักให้เปิดถังหมักทุก 1 เดือน เพื่อตรวจดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของเส้นใยและเมื่อหมักครบ 4 เดือน ให้นำมาซักล้างด้วยน้ำเปล่า จากนั้นนำไปต้มด้วยน้ำเปล่าผสมโซดาไฟ อัตราส่วน 10 ลิตร : 2 กรัม ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง  เสร็จแล้วนำเส้นใยตากแดดให้แห้ง ก็จะได้เส้นใยที่อ่อนนุ่มสามารถนำไปเป็นส่วนผสมร่วมกับเส้นใยชนิดอื่นเพื่อพัฒนาเป็นเส้นด้ายจากใยธรรมชาติสำหรับงานสิ่งทอต่อไป

ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว กล่าวอีกว่า จากผลการทดลองและการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพตาม มาตรฐานอุตสาหกรรมด้านความแข็งแรงของผ้าต่อแรงฉีกขาด ความหนาของผืนผ้า ความโค้งงอ ความแข็งแรงของเส้นด้ายและความสามารถในการดูดซึมความชื้น แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเส้นด้ายใยอ้อยเพื่องานสิ่งทอครั้งนี้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์สามารถนำมาออกแบบและใช้งานได้จริง สร้างความหลากหลาย ของเส้นใยจากธรรมชาติ สำหรับงานสิ่งทอได้เป็นอย่างดี นั่นคือใบอ้อยเป็นพืชที่มีศักยภาพในการให้เส้นใยด้วยกระบวนการแบบหัตถกรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเครื่องจักรอุตสาหกรรม ผู้ผลิตงานสิ่งทอแบบหัตถกรรมจึงสามารถเรียนรู้กระบวนการจากงานวิจัยเพื่อพึ่งพาตนเองในด้านการผลิตเส้นใยธรรมชาติอันจะส่งผลต่อการพัฒนาสิ่งทอเชิงสร้างสรรค์ สร้างรายได้และความมั่นคงในอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันได้นำกระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อยที่มีคุณภาพไปผลิตเป็นเส้นด้ายและผ้า พร้อม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการย้อมสีธรรมชาติ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอในรูปแบบใหม่ เช่น  ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบการแต่งกาย ผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ อาทิ เสื้อคลุม หมวก รองเท้า กระเป๋า และโคมไฟ เป็นต้น  ให้กับกลุ่มทอผ้า ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว  จำนวน 4 หมู่บ้าน ที่มีการทอผ้าและปลูกอ้อย และมีความพร้อมที่จะเรียนรู้นวัตกรรมใหม่  ได้แก่ หมู่ที่ 6 บ้านเนินตะแบก หมู่ที่ 7 บ้านหนองโกวิทย์ หมู่ที่ 8 บ้านหนองคุ้ม และหมู่ที่ 12 บ้านสุขสำราญ  นับเป็นทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีการสร้างจุดแข็งของสินค้าสิ่งทอและแฟชั่นร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง  ผู้สนใจผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากใบอ้อย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 094 5653256”  ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว กล่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter