Research

ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าวเหลือทิ้ง-ตะบูน ผลงาน น.ศ.ราชมงคลพระนคร เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง สู่ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ท้องถิ่นชุมชนบ้านลมทวน

การย้อมสีผ้าเป็นภูมิปัญญาโบราณของไทย โดยการนำเอาวัตถุดิบในธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์  และแร่ธาตุต่าง ๆ มาทำการย้อมกับเส้นด้าย เพิ่มสีสันให้มีความสวยงามเพื่อนำมาใช้ในการทอผ้า ในการย้อมสีผ้าด้วยวัสดุจากธรรมชาติไม่เป็นพิษต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของคนแต่ละพื้นที่ที่มีการสืบทอดเทคนิควิธีการย้อมมายังคนรุ่นหลัง  แม้เทคโนโลยีการย้อมผ้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยก็ตาม  แต่การย้อมสีธรรมชาติเป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน  เช่นเดียวกับชุมชนบ้านลมทวน  หรือคุ้งลมทวน จ.สมุทรสงคราม ชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าว ประมง  นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นสถานที่ๆ มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสชีวิตชาวชุมชนที่เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนแห่งนี้ อาทิ การสานหมวกจากใบมะพร้าว  การทำขนมต้ม การทำน้ำตาลมะพร้าว การทำไข่เค็มมรกต การทำมัดย้อม การทำพวงกุญแจจากขุยมะพร้าว

นางสาวจุฬามณี ธัญสมุทร นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้าแฟชั่น คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  กล่าวว่า จากอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวทำให้มีเปลือกมะพร้าวเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดในการนำเศษเปลือกมะพร้าวเหลือทิ้ง นำมาสกัดสีจากธรรมชาติ เพื่อใช้ในการย้อมผ้า ซึ่งเป็นการนำวัสดุที่เป็นขยะเหลือทิ้งซึ่งเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าการเป็นแค่วัสดุปลูกหรือปุ๋ย และยังเป็นการเพิ่มอัตลักษณ์ให้ท้องถิ่น  โดยมีอาจารย์มัลลิกา จงจิตต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้าแฟชั่น เป็นที่ปรึกษาโครงการ  ทั้งนี้หลังจากลงพื้นที่พูดคุยกับวิทยากรที่ให้ความรู้ด้านการมัดย้อมในชุมชนพบว่า ทางชุมชนได้มีการนำกาบมะพร้าวมาสกัดน้ำสีออกมาเพื่อใช้ในการมัดย้อมผลิตภัณฑ์สิ่งทอภายในชุมชน เช่น กระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เหรียญ พวงกุญแจ ของที่ระลึก  ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทางคณะฯ จึงนำแนวคิดในการเรียนรู้วิถีชีวิตด้านการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ มาใช้ดึงเสน่ห์ของชุมชน เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

นางสาวจุฬามณี ธัญสมุทร กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการทำน้ำย้อมที่สกัดจากเปลือกมะพร้าว เนื่องจากเปลือกมะพร้าวมีองค์ประกอบทางเคมีในการดูดซับสีย้อมเส้นด้ายผ้าฝ้ายค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจึงนำเปลือกต้นตะบูน มาเป็นองค์ประกอบเพิ่มในกระบวนการ เพื่อให้ได้สีซึ่งมีความติดทนนาน โดยประโยชน์ของตะบูน คือเปลือกให้น้ำฝาด ใช้สำหรับย้อมผ้า และเนื้อไม้มีสีขาว เปลือกต้นมีสีเทาหรือสีเทาอมขาว หรือเป็นสีน้ำตาลแดง ซึ่งเฉดสีของผ้าฝ้ายที่ได้หลังการย้อม จากเปลือกมะพร้าวผสมเปลือกตะบูน จะให้เฉดสีไปทางสีน้ำตาลเข้ม โดยวิธีการทำเริ่มจากนำเปลือกมะพร้าวและเปลือกตะบูนแห้ง มาทำการต้ม ด้วยสัดส่วน 1:1 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นกรองเศษเปลือกออกให้หมดด้วยผ้าขาวบาง นำน้ำสีที่ได้มาต้มอีกครั้ง เป็นเวลา 30 นาที ใส่โซเดียมซิลิเกต (เกลือแกง) ลงไปเพื่อให้สีติดผ้าดีขึ้น นำผ้าที่ทำการมัดเป็นลวดลายต่าง ๆ  ลงไปในอ่างน้ำย้อม คนตลอดเวลา โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง  จากนั้นนำมาวางให้น้ำย้อมเย็นและคนผ้าต่อไปอีกครึ่งชั่วโมง พอครบตามเวลานำผ้าล้างด้วยน้ำสะอาดและนำผ้าไปผึ่งไว้จนแห้ง

นายภารดา ปักษาทอง กล่าวว่า  จากการทดสอบความคงทนในการติดสีของสีจากธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าวผสมเปลือกต้นตะบูน ในการซักล้างครั้งแรกสีน้ำย้อมจะหลุดออกมามากที่สุด เนื่องจากสีที่ออกมาเป็นเม็ดสีที่ไม่เกาะเส้นใยเลยทำให้สีตกออกมา หลังจากนั้นเมื่อนำไปซักอีก สีจะไม่หลุดออกอีก สีแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสรุปได้ว่า สีธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าวและเปลือกต้นตะบูน สามารถนำมาทำเป็นสีย้อมผ้าจากธรรมชาติได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็นอกจากการสอนการย้อมสีให้กับชาวบ้านชุมชนที่สนใจแล้ว ทางกลุ่มยังได้สอนการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการนำผ้าที่ได้จากการย้อมมาตัดเย็บ จนเกิดผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ ชุดเดรส ผ้าคลุมผม ผ้าโพกหัว กระเป๋าสตางค์ใบเล็ก ซึ่งสร้างรายได้ให้ชุมชน จนผลิตภัณฑ์เหล่านี้กำลังเป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ จังหวัดสมุทรสาครอีกทางหนึ่งด้วย “เอกลักษณ์สินค้าที่ทีมงานต้องการคือนำสิ่งที่เหลือทิ้ง ที่ทุกคนมองข้ามกลับมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน ต้องขอบคุณโครงการตามรอยพระราชดำริเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้จากพันธุกรรมพืช ฝ่ายกิจการศึกษา คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ที่แนะนำให้ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทำให้ได้เรียนรู้ต่อยอดและพัฒนาผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ให้มีคุณภาพเพื่อส่งต่อให้คนในชุมชนต่อไป” นายภารดา กล่าว

ด้านอาจารย์มัลลิกา จงจิตต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้าแฟชั่น ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า  การบูรณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืช  โครงการตามรอยพระราชดำริเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช 2567 เป็นการบูรณาการวิชาเรียนของนักศึกษาให้เข้ากับศาสตร์สาขาวิชาที่เรียน โดยหวังให้นักศึกษามีองค์ความรู้ในการศึกษาค้นคว้า วิจัย และรวบรวมข้อมูลพืชสมุนไพร ในการนำมาพัฒนา การแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถอุปโภคหรือบริโภค อีกทั้งส่งเสริมให้เล็งเห็นคุณค่าและรู้จักใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติของสิ่งที่มีในท้องถิ่น และการย้อมสีธรรมชาติสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นตามประสบการณ์ สามารถถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลัง เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นต่อไป  ซึ่งการที่นักศึกษาได้มีโอกาสลงมือทำ ก็สามารถจรรโลงความคิดและจิตใจให้เกิดความรัก ความหวงแหนที่จะอนุรักษ์ และเรียนรู้การผลิตทดแทนที่ยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter