Research

เว็บไซต์ “ฉลาดโอน.com” ผลงานบูรณการ มทร.พระนคร ร่วม บช.น. สนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ผนวกกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การซื้อขายสินค้า และการทำธุรกรรมทางการเงินในการชำระค่าบริการ หรือสินค้าต่าง ๆ หรือที่เรียกว่าธุรกรรมออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มซื้อขาย และแอปพลิเคชันต่าง ๆ เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะสะดวกทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน แต่ก็แฝงด้วยภัยคุกคามจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาศัยช่องโหว่ ทั้งจากคน  ระบบ และกระบวนการ ตลอดจนข้อกฎหมายที่ยังมีจุดอ่อน แอบแฝงเข้ามาหาผลประโยชน์ด้วยกลโกงรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความเสียหาย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัย เพื่อให้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาระบบต้นแบบ เพื่อช่วยในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดของมิจฉาชีพออนไลน์ โดยได้บูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง ทีมอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร นำโดย ดร.เทอดพงษ์ แดงสี  ผศ.กร พวงนาค  ผศ.ดร.ณัฎฐ์ชยธร วัทธิกรสิริกุล  และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น) โดยกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8  และงานประชาสัมพันธ์

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี และที่ปรึกษาโครงการ  กล่าวว่า  โครงการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบต้นแบบ เพื่อสนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์  เป็นการพัฒนาระบบต้นแบบสำหรับช่วยในการติดตามหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี ตาม พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560  และเป็นตัวกลางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบคนโกง เบอร์โทรหลอกหลวง SMS หลอกหลวง และเป็นศูนย์ตรวจสอบรายชื่อบัญชีมิจฉาชีพออนไลน์  ผ่านศูนย์ปฏิบัติการเว็บไซต์ “www.ฉลาดโอน.com” เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนตัดสินใจโอนเงินชำระค่าสินค้าหรือบริการต่าง ๆ   การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการได้มีการรวบรวมข้อมูลมิจฉาชีพออนไลน์ ปัญหา และช่องโหว่ของคนโกงไว้ ณ ปัจจุบัน มากกว่า 80,000 รายการ  พร้อมจะแบ่งปันความรู้ แนวทาง เทคนิคการเอาผิดดำเนินคดี  อายัดบัญชีของคนโกงเพื่อจะได้ไม่ให้มีประชาชนถูกหลอกลวงโดยไม่รู้ตัวอีกต่อไป

ดร.เทอดพงษ์ แดงสี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ  “การออกแบบและพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อสนับสนุนงานป้องกัน และปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์”  เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำธุรกรรมออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสั่งสินค้า อาหาร กู้เงินผ่านระบบออนไลน์เนื่องจากสะดวกสบาย ซึ่งหากผู้ซื้อหรือผู้ขายที่ไม่ได้ทำการตรวจสอบตัวตนจริงของบุคคลที่ทำธุรกรรมด้วยความละเอียดถี่ถ้วน  อาจทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ดังกล่าว ในการกระทำความผิดเพื่อหลอกเหยื่อผ่านช่องทางออนไลน์   โดยทางเว็บไซต์ฉลาดโอนจัดกลุ่มการบริการออกเป็น 6 รูปแบบ คือ 3 เช็ก 2 ประเมิน 1 แจ้ง โดยมีรายละเอียด คือ  เช็กชื่อบัญชีหรือเลขบัญชีคนโกง เพื่อป้องกันก่อนโอนเงิน  เช็กตัวตนจริงของผู้ขาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เกิดความมั่นใจก่อนการโอน  ประเมินบัญชีโซเชียล เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้าหรือบุคคลที่ต้องการทำธุรกรรมด้วยประเมินเอกสารหลักฐานการแจ้งความดำเนินคดี เพื่อให้ผู้เสียหายรับทราบถึงโอกาสในการแจ้งความดำเนินคดีสำเร็จ  และแจ้งรายชื่อคนโกง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้เสียหายร่วม ทำให้การดำเนินคดีมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

“จากที่ได้ทราบข้อมูลจากผู้เสียหายหลายราย ไม่สามารถหาหลักฐานมาเอาผิดมิจฉาชีพได้ เพราะมักจะมีการใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือบัญชีธนาคารที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ  รวมถึงมูลค่าความเสียหายน้อย ทำให้ผู้เสียหายไม่อยากเสียเวลาในการแจ้งความดำเนินคดี  จึงทำให้มิจฉาชีพเหล่านี้ได้กระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันกับผู้เสียหายอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้มีมูลค่าความเสียหายรวมกันมหาศาล  ดังนั้นการพัฒนาระบบที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง เช่น ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของผู้กระทำความผิด บัญชีธนาคาร  ประวัติ  เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลก่อนการทำธุรกรรม นับเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อและช่วยลดความเสียหาย หรือโอกาสสูญเสียได้ไม่มากก็น้อย   ทั้งนี้ฝากให้ประชาชน และผู้เสียหายทุกคนเข้ามาใช้บริการตรวจสอบข้อมูล หรือช่วยกันแจ้งข้อมูลของมิจฉาชีพต่าง ๆ  ได้ที่เว็บไซต์ www.ฉลาดโอน .com นอกจากนี้ทางเว็บไซต์ยังมีช่องทางการติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน LINE ที่ให้บริการแนะนำหรือให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่ถูกโกงหรือผู้เสียหายที่ต้องการขอคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือในเบื้องต้นด้วย”  ดร.เทอดพงษ์ แดงสี  กล่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter