Research

แป้งหัวบอนกั้นสีผืนผ้าบาติกทดแทนเทียนไข และสีผงจากธรรมชาติ ไอเดีย อ.ราชมงคลพระนคร เพิ่มคุณค่าพืชท้องถิ่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยน้ำเสียที่มีส่วนของสีย้อม สารเคมีลงในน้ำทิ้งที่ก่อให้เกิดมลพิษแก่แหล่งน้ำ เช่นเดียวกับการทำผ้าบาติกของวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดปัญหาเนื่องจากมีการใช้เทียนไข หรือแวกซ์ ทำหน้าที่เป็นสารกั้นสี โดยนำมาละลายด้วยความร้อนและใช้เขียนลงบนผืนผ้าตามลวดลายที่ต้องการ ซึ่งตัวเทียนไขที่ละลายออกมาจะไปเกาะตามท่อระบายน้ำและส่งผลให้ท่อตันได้ นอกจากนี้แล้วในกระบวนการลงสี สำหรับการพิมพ์ หรือเพ้นท์ผ้า ก็มีการใช้สีเคมีสำหรับพิมพ์ และเมื่อนำผ้าไปทำการซักล้างพบว่ามีสีส่วนเกิน และสารเคมีหลุดออกมาด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์  อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  จึงคิดหาแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำผ้าบาติก การพิมพ์ เพ้นท์ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยการนำแป้งหัวบอนดัดแปร (Modified starch of wild taro corms) มาแปรรูปเป็นผงละลายน้ำ ใช้ในงานบาติกแทนเทียนไขเพื่อกั้นไม่ให้สีบนผืนผ้าไหลล้ำเข้าไปในแต่ละส่วนของลวดลาย และการผลิตสีผงจากสีธรรมชาติจากพืช และสัตว์ ซึ่งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ได้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์  กล่าวว่า กระบวนการผลิตผ้าบาติกแบบดั้งเดิมจะใช้วิธีการสร้างลวดลายด้วยการเขียนเทียนไขลงบนผืนผ้า ดังนั้นจึงคิดค้นนำแป้งจากหัวบอน ซึ่งเป็นพืชที่เกิดขึ้นทั่วไปตามธรรมชาติ โดยคุณสมบัติของหัวบอนคือมีแป้งเป็นส่วนประกอบมาก มาใช้แทนเทียนไขเขียนลาย อีกทั้งข้อดีของแป้งหัวบอน เมื่อละลายน้ำแล้วสามารถนำมาเพนท์สีได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการความร้อนเหมือนเทียนไข และเมื่อวาดลวดลายบนผ้าแล้ว เพียงนำไปผึ่งแดดไม่เกิน 1 ชั่วโมงก็สามารถนำมาลงสีเพนท์ได้เลย ทั้งนี้ขั้นตอนการวิจัย การแปรรูปแป้งจากหัวบอนให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำ (แป้งหัวบอนดัดแปร) ได้แก่ นำเอทานอล 18 ส่วน แป้งจากหัวบอนแห้งบดละเอียด 2 ส่วน โมโนคลอโรอะซีติกแอซิด  น้ำ และโซดาไฟ มาทำปฏิกิริยากัน จนได้ลักษณะเป็นเจลสีน้ำตาล ส่วนด้านการใช้งานเพียงนำแป้งบอนดัดแปรที่เป็นเจล มาวาดลงบนลวดลายที่อยู่บนผืนผ้า และปล่อยไว้ให้แห้ง ซึ่งจากการวิเคราะห์ลวดลายแป้งบอนที่ปรากฏบนผืนผ้าพบว่าแป้งบอนสามารถยึดเกาะบนผืนผ้าได้ดี และสามารถทะลุลงสู่ด้านล่าง และเมื่อนำสีธรรมชาติ หรือสีเคมีเพ้นท์ลงบนผืนผ้าปรากฏว่าแป้งบอนดัดแปรสามารถกั้นสีได้ สีไม่มีการแทรกซึมออกไปด้านข้าง ส่วนการผลิตสีผงจากสีธรรมชาติ ได้นำสีที่ได้จากพืช และสัตว์ เช่น เปลือกของต้นมะพูด เปลือกของฝักสะตอ เปลือกลูกเนียง ใบมังคุด ครั่ง และอื่น ๆ โดยนำมาต้มสกัดด้วยน้ำ นำไปกรอง และต้มต่อเพื่อให้ปริมาณสารละลายเหลือ 1 ส่วน จากนั้นใส่สารมอลโทเดกซ์ทริน  และนำไปผสมกับสารละลายน้ำสีที่สกัดได้ นำไปอบแห้งด้วยตู้อบลมร้อนจนแห้งสนิท  เสร็จแล้วจึงนำไปบดให้ละเอียดก็จะได้สีผงสำหรับนำมาใช้งานพิมพ์ เพนท์วัสดุสิ่งทอต่อไป  “จากการทดลอง ค่าความคงทนของสีของวัสดุสิ่งทอที่ผ่านการเพ้นท์หรือพิมพ์ ต่อการซักล้าง เหงื่อ และน้ำอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ส่วนความคงทนของสีต่อแสงอยู่ในระดับต่ำ ถึงปานกลาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสีธรรมชาติ  อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของแป้งบอนดัดแปรที่นำมาใช้แทนเทียนใข คือจะต้องใช้แสงแดดในการทำให้แป้งบอนที่เขียนลงบนผืนผ้าแห้ง ดังนั้นการวิจัยในอนาคตจะต้องหาวิธีการทำให้แป้งบอนแห้งเร็วกว่าเดิมเพื่อป้องกันปัญหาไม่มีแสงแดด”  ผศ.ดร.รัตนพล กล่าว

ผศ.ดร.รัตนพล กล่าวอีกว่า ได้นำผลการวิจัยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่ วิสาหกิจชุมชนในภาคใต้ และภาคตะวันออก ซึ่งได้แก่ วิสาหกิจชุมชนแตนบาติก จังหวัดระยอง เรินผ้าลีมาแล จังหวัดสงขลา วิสาหกิจชุมชนดาหลาปาเต๊ะ จังหวัดสตูล กลุ่มเก๋บาติก จังหวัดกระบี่   โดยมีจำนวนคนเข้าร่วมโครงการจังหวัดละ 15 คน โดยบุคคลที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการทำผ้าบาติกและผ้าพิมพ์ ส่วนอีกร้อยละ 10 ประกอบอาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย และเคหะสิ่งทอ จากผ้าบาติกและผ้าพิมพ์   ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจเป็นอย่างมากต่อประโยชน์จากการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ ต่อการประกอบอาชีพ  โดยวิสาหกิจชุมชนเสนอแนะว่า ควรจะต้องมีการรวมกลุ่มกันในลักษณะคลัสเตอร์ ตั้งแต่กลุ่มต้นน้ำ ได้แก่ ผู้ผลิตผ้าทอ ผลิตสีผง ผลิตแป้งหัวบอน  กลุ่มกลางน้ำ ได้แก่ ผู้ผลิตงานผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม และผ้าเพนท์ กลุ่มปลายน้ำ ได้แก่ ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และนักการตลาด  จะทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ รวมทั้งทำให้มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น และยั่งยืนตลอดไป  อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาชุมชน ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน ควรจะผลักดันหรือสนับสนุนการผลิตสีผงจากธรรมชาติ หรือน้ำสีธรรมชาติเข้มข้นสำหรับใช้ในงานบาติก งานเพ้นท์ หรืองานพิมพ์สิ่งทอ โดยการใช้พืชให้สีที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง เช่น ภาคใต้ จะมีใบยางพารา ใบสะตอ ใบสะเดา ดอกดาหลา ใบมังคุด ซึ่งสามารถนำมาผลิตสีผงเพื่อรองรับการใช้งาน ส่งผลดีต่อสภาวะแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต   ผศ.ดร.รัตนพล กล่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter