Research

ผลิตภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์จากแกลบ เพิ่มมูลค่าส่วนเหลือทิ้งจากการเกษตร เพื่ออนุรักษ์ศิลปะไทย

แกลบ (Rice Husk) เปลือกแข็งของเมล็ดข้าวที่ได้จากการสีข้าว เป็นส่วนที่เหลือจากกระบวนการสีข้าวสาร แกลบประกอบด้วยเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส ลิกนิน และเถ้า แกลบไม่ละลายในน้ำ มีความคงตัวทางเคมี ทนทานต่อแรงกระทำ โดยทั่วไปเกษตรกรมักใช้ผสมดินเพื่อปรับโครงสร้างดินให้โปร่ง หรือใช้โรยคลุมดินเก็บรักษาความชื้น แกลบดิบย่อยสลายช้า นอกจากการนำแกลบไปใช้ในการเกษตรแล้วนั้น ในปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การกำจัดของเสียเพื่อลดปัญหามลพิษ จึงทำให้หลายภาคส่วนหันมาคิดค้นวิจัยนำแกลบไปผลิตซีเมนต์ทำอิฐ รวมถึงนำไปผสมกับวัสดุอื่นๆ เป็นวัสดุก่อสร้างใช้ในงานถมถนน ด้านพลังงานและอุตสาหกรรมใช้อัดเป็นถ่านเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวล

จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ นางสาวประพาฬภรณ์ ธีรมงคล นางสาวอัชชา หัทยานานนท์ และนางสาวมัลลิกา จงจิตต์ อาจารย์สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกันคิดนำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร มาบูรณาการกับความรู้ทางคหกรรมศาสตร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าแกลบโดยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดต้นทุนการผลิต และคุ้มค่าทางการตลาด อีกทั้งยังลดปริมาณของเศษวัสดุทางการเกษตรเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด

นางสาวประพาฬภรณ์ ธีรมงคล หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ได้นำแกลบมาพัฒนาเป็นชุดเครื่องประดับ      ชุดตกแต่งบ้าน ชุดของใช้ภายในบ้าน และบรรจุภัณฑ์ ขั้นตอนการทำคือนำแกลบในอัตราส่วน 50 ผสมกับปอสาต้ม 50 นำไปผสมลงในกระบะน้ำและใช้ตะแกรงร่อนแกลบกับเยื่อสา เกลี่ยให้ทั่วแล้วนำไปผึ่งให้แห้ง ก็จะได้กระดาษจากแกลบที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยใช้กระบวนการทางความคิดด้านการอนุรักษ์ศิลปะไทย รักษาภูมิปัญญาเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ มีจุดเด่น เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านอาชีพเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่และคุ้มค่าที่สุด และยังสามารถนำไปสู่การผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าระดับชุมชนได้ด้วย

 

 

 

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter