Research

ราชมงคลพระนคร วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีบางเสาธง พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มรายได้ชุมชน

โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ได้ดำเนินการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 16 ปี แม้ว่าที่ผ่านมาหลายหน่วยงานต่างสนับสนุนการยกระดับผลิตภัณฑ์และพัฒนาช่องทางการตลาดที่หลากหลายเพื่อให้ทุกชุมชนมุ่งปรับตัวสู่การค้าแบบสากล แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ของคนในชุมชนซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ ไม่สามารถแข่งขันได้ รายได้ส่วนใหญ่ไปตกอยู่แก่ผู้ประกอบการคนเดียว กลุ่มทุนเอกชน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ห้างร้านใหญ่ กรุ๊ปทัวร์ ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนไม่ประสบผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร เช่นเดียวกับชุมชนอำเภอบางเสาธง
จังหวัดสมุทรปราการ ที่ชาวบ้านชุมชนต้องการมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ชุมชนท่องเที่ยวภาคการผลิตและบริการให้สามารถแข่งขันได้ โดยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง
กระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และนำมาต่อยอดการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเหมาะสม

ผศ.ดร. กิ่งกาญจน์ พิจักขณา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า การผลักดันสินค้า OTOP ของชุมชนที่มาจากการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ต้องเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ตามความต้องการ (Demand Driven Local Economy) โดยเน้นการใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน (Strength with in) และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ทั้งนี้ได้เลือกชุมชนตำบลบางเสาธง อ. บางเสาธง มาเป็นพื้นที่ศึกษาและพัฒนาในโครงการบูรณาการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่า และยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ตลาดเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน โดยผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของตำบลคือ ไข่เค็ม ไวน์ลูกยอ มะม่วงน้ำปลาหวาน ขนมสอดไส้ และยังมีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำผลิตภัณฑ์ไม้มงคล ผ้ามัดย้อม ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงเป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและการออกแบบผลิตภัณฑ์

และการพัฒนาอาหารภายใต้โครงการบูรณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้กับชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง กระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ประจำปี 2565

ผศ.ดร. กิ่งกาญจน์ พิจักขณา กล่าวว่า การวิจัยได้ลงพื้นที่ศึกษาและเก็บข้อมูลด้านความต้องการของผลิตภัณฑ์และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน (Pilot Study) และเลือกกลุ่มตัวอย่างเพื่อเป็นตัวแทนในการตอบแบบสอบถาม โดยใช้วิธีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย (Purposive Sampling) ซึ่งมีการเก็บข้อมูลเพื่อหาความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในชุมชน โดยศึกษาและเลือกใช้วัตถุดิบที่มีมาใช้ประโยชน์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างสูงสุด โดยได้แบ่งการศึกษาและพัฒนาออกเป็น 6 โครงการย่อย ได้แก่

1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเบเกอรี่จากมะม่วงน้ำดอกไม้ ได้แก่ ผงมะม่วงจี๊ดคลุกโดนัท พายเยลลี่น้ำปลาหวาน มะม่วงสแน็ค โดยมีการศึกษาทฤษฎีความเป็นมาของพื้นที่เกษตรกรรม สวนมะม่วง
2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผักกระเฉดเป็นขนมอบกรอบทานเล่น ได้แก่ ผักกระเฉดแผ่นปรุงรส ข้าวเกรียบผักกระเฉด จากบ่อเลี้ยงผักกระเฉดที่มีมากในตำบลบางเสาธง
3.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของใช้ของที่ระลึกจากเศษหนังสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ ได้แก่ พวงกุญแจ กระเป๋าใส่เหรียญ และกระเป๋าสะพาย โดยศึกษาวัสดุประเภทหนัง เศษหนังเหลือทิ้งในโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ตำบลบางเสาธง
4.การออกแบบลวดลายและผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมด้วยภูมิปัญญาสู่แฟชั่นสร้างสรรค์ ได้แก่ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ กระเป๋า โดยสื่อถึง อัตลักษณ์ของชุมชน
5.การพัฒนาจุดจำหน่าย จุดจัดแสดงสินค้าเพื่อการส่งเสริมการขาย ดึงดูดให้ลูกค้าเกิดการซื้อสินค้า และ
6.การพัฒนาสื่อดิจิทัลในการประชาสัมพันธ์การตลาด ให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้กว้างขวางมากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้จากการสำรวจความพึงพอใจหลังได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนของผู้เข้ารับการฝึกอบรม พบว่าหลักสูตรและเนื้อหาตรงกับความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม การนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และการนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ พบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความพอใจในระดับมากและมากที่สุดรวมกันหนึ่งร้อยเปอร์เซนต์ในทุกด้านด้านสินค้าสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจ
รวมถึงดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นให้ทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น สร้างแรงจูงใจในด้านการท่องเที่ยวด้วยตนเอง และกระตุ้นอำนาจการตัดสินใจซื้อของนักท่องเที่ยวได้ดี ส่วนด้านการประชาสัมพันธ์กลยุทธ์ทางการตลาด เน้นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีและเสริมสร้างให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจชื่นชอบต่อผลิตภัณฑ์ บุคคล และองค์กรทางธุรกิจ จนนำไปสู่ความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ขององค์กรในที่สุด “อย่างไรก็ตามทางกลุ่มชุมชนต้องการให้มหาวิทยาลัยทำการศึกษาต่อยอดผลงานวิจัย โดยศึกษาอายุการเก็บอาหารขบเคี้ยวจากผักกระเฉด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการค้าต่อไป รวมถึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ ให้หลากหลายขึ้น ให้เป็นสินค้าประจำท้องถิ่น ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดในการทำผลิตภัณฑ์ของฝาก เพื่อเพิ่มมูลค่าจากพืชในท้องถิ่นและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้ผลิตภัณฑ์อีกด้วย โดยทีมวิจัยจะนำข้อเสนอแนะไปออกแบบพัฒนาแนวคิดประโยชน์ใช้สอยที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเกิดความยั่งยืนต่อไป ผศ.ดร. กิ่งกาญจน์ กล่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter