Research

ผลิตภัณฑ์ซักผ้าไหมจากน้ำมะพร้าว นวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติ ผลงานวิจัยราชมงคลพระนคร เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เส้นใยไหม เป็นสิ่งที่ต้องมีการดูแลรักษาเป็นพิเศษ เพราะเป็นเส้นใยโปรตีนธรรมชาติ จึงถูกทำลายได้ง่ายด้วยแสงยูวี ซึ่งส่งผลให้เส้นใยเปื่อยและความเงาลดลง โดยเฉพาะขั้นตอนการซักรีด ที่ต้องใส่ใจในเรื่องของวิธีการซัก ชนิดน้ำยาที่ใช้ การบิดผ้า และการตากผ้า ไม่ควรใช้ผงซักฟอกที่มีฤทธิ์ขจัดคราบสูง เพราะมีความเป็นด่างที่จะไปทำลายเส้นไหม ทำให้ผ้าแข็งกระด้างมากยิ่งขึ้น  ยิ่งไปกว่านั้นด้วยคุณสมบัติคืนตัวต่อการยับต่ำ จึงทำให้รีดเรียบได้ยาก  จึงทำให้ผู้สวมใส่ส่วนใหญ่นิยมซักชุดผ้าไหมด้วยวิธีการซักแห้งที่ร้านมากกว่าจะทำด้วยตนเอง ด้วยเหตุผลข้างต้น รศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ และทีมวิจัยคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ซักผ้าไหมจากน้ำมะพร้าว และสารสกัดธรรมชาติ 100 % ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ซักผ้าไหมจากสารสกัดธรรมชาติ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ กล่าวว่า จากการศึกษาวิธีการดูแลรักษาผ้าไหมแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นพบว่า การใช้น้ำมะพร้าวซักผ้าไหมทำให้ผ้าหอมและนุ่ม ดังนั้นงานวิจัยจึงมุ่งศึกษาและพัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติที่มีผลต่อการซักของผ้าไหม ได้แก่ 1.น้ำมะพร้าว (น้ำตาลแอลกอฮอล์) มีคุณสมบัติในการจับแทรกซึมเส้นใยผ้าไหม 2.น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น มีส่วนประกอบของกรดไขมันอิ่มตัว กรดไขมันไม่อิ่มตัว และกรดอินทรีย์ที่สามารถแทรกซึมจับกับเส้นใยโปรตีนผ้าไหม เพิ่มความนุ่มลื่นให้ผ้าไหมหลังการซัก ไม่ทำให้เกิดการเสียคุณลักษณะดังเดิมของผ้า 3.น้ำด่างขี้เถ้า มีส่วนประกอบของโซเดียมไฮดรอกไซด์ ที่ออกฤทธิ์ในการทำความสะอาดคราบสกปรก และช่วยเพิ่มความเงามันของเนื้อผ้าไหมภายหลังการซัก  ทั้งนี้ได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าไหม จำนวน 4 สูตร  ได้แก่ สูตร 1  น้ำมะพร้าว (100%) สูตร 2 น้ำด่างจากขี้เถ้า (100%)  สูตร 3 น้ำมะพร้าว : น้ำด่างจากขี้เถ้า (1 : 1) และสูตร 4 น้ำมะพร้าว : น้ำมันมะพร้าว : น้ำด่างจากขี้เถ้า (1 : 1 : 1)  และทำการผสมสารทำความสะอาดผิว Dehyton DC-AS  (Disodium Cocoamphodiacetate) ในผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 สูตร จากนั้นทำการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพผ้าไหมก่อนและหลังการซักด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ ได้แก่ ความคืนตัวต่อการยับ ตามมาตรฐาน AATCC 128  ความเงา ความนุ่ม ความกระด้าง การทิ้งตัวของผ้า โดยเปรียบเทียบผ้าไหมบ้าน และผ้าไหมโรงงาน ที่ผ่านกระบวนการทอประเภทลายขัดธรรมดา และลายยกดอก และทำการทดสอบลักษณะทางกายภาพ สี การคงตัวของสารละลาย ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH)  ซึ่งจากการทดลองพบว่าผลิตภัณฑ์ซักผ้าไหมสูตรที่ดีที่สุดได้แก่ สูตร 4  (น้ำมะพร้าว : น้ำมันมะพร้าว : น้ำด่างจากขี้เถ้า 1 : 1 : 1 )

การทดลองซักผ้าไหมจากน้ำยาซักผ้า 4 สูตร

การวัดค่า pH ของสารละลายที่เตรียมได้จากน้ำยาพาณิชย์

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ กล่าวอีกว่า  ได้ทำการประเมินผลิตภัณฑ์ซักผ้าไหมกับกลุ่มทดลองเป้าหมายทั้ง 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ  2 กลุ่ม ภาคอีสาน 5 กลุ่ม ภาคกลาง 2 กลุ่ม และภาคใต้ 1 กลุ่ม รวมทั้งหมด 10 กลุ่ม จาก 9 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน อุตรดิตถ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ  โดยวิธีการสังเกต และสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการใช้ผลิตภัณฑ์สูตร 4  พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจผลิตภัณฑ์ซักผ้าไหม เนื่องจากใช้งานง่าย ผลิตภัณฑ์มีความอ่อนโยน  ผ้าไหมหลังการใช้งานมีความนุ่มลื่น และรีดง่ายขึ้น  ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.00) รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ล้างออกง่าย ไม่ทิ้งสารตกค้างบนผ้า ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.90) สุดท้ายผลิตภัณฑ์ชำระสิ่งสกปรกได้หมดจด ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.50)  ส่วนด้านผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ กลุ่มตัวอย่างรู้สึกถึงความอ่อนโยนต่อผิว ไม่เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่เกิดอาการแพ้หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.00)  ส่วนผลการวิเคราะห์เพื่อส่งเสริมการตลาดและกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อแบบบรรจุภัณฑ์ เพราะสามารถเก็บรักษาได้ง่าย และมีความทนทานในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.90) รูปแบบบรรจุภัณฑ์ มีความเหมาะสม สวยงาม น่าสนใจ ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.80)  สีของผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสม ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.70) สุดท้ายมีความพึงพอต่อกลิ่นของผลิตภัณฑ์ ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.40)  สำหรับข้อเสนอแนะอื่น ๆ  กลุ่มทดลองแนะนำว่า ผลิตภัณฑ์ควรใช้ซักผ้าชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าใยกัญชง และผ้าใยสับปะรด รวมถึงควรพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองผู้ใช้ในรูปแบบเจลบอล แคปซูล หรือแบบผสมผสานเพื่อง่ายต่อการใช้ที่หลากหลาย

“หากสามารถลดขั้นตอนวิธีการซักผ้าหรือวิธีในการดูแลที่ยุ่งยากด้วยการนำเทคโนโลยีงานวิจัย นวัตกรรมดังกล่าวมาต่อยอด ก็จะช่วยส่งเสริมการใช้ผ้าไหมของไทย รวมทั้งงานหัตถศิลป์  ภูมิปัญญาของไทยให้มีความโดดเด่นและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย ชุดผ้าไหมไทยแบบต่าง ๆ ที่ไม่ต้องทำความสะอาดให้ยุ่งยาก และตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน ก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย เป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่ส่งเสริมและอนุรักษ์สืบสานผ้าไทย เพิ่มโอกาสกระจายสินค้าและฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นได้เหมาะสมตามบริบทยุคสมัย ทั้งนี้ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 083 788 9569  หรือที่ไลน์ไอดี Dr.moo” รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter