Research

นักวิจัยมทร.พระนคร เผยผลการศึกษาการใช้สื่อของรัฐบาล ชี้ประชาชนเข้าถึงการรณรงค์ป้องกันไวรัสโควิด-19

สถานการณ์โรคระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) กลุ่มการแพร่ระบาดที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง คือ นักท่องเที่ยวชาวจีนที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้คนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นำเชื้อโรคโควิด-19 กลับเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้รัฐบาลไทยจัดตั้งศูนย์ข้อมูลบริหารสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) (ศบค.) เพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการต่าง ๆ รวมถึงคำแนะนำต่อประชาชน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการบิดเบือนข้อมูล และลดการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน  จากข้อมูลดังกล่าวทำให้  ผศ.อภิญญ์พัทร์ กุสิยารังสิทธิ์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ศึกษา เกี่ยวกับสื่อที่ใช้ในการรณรงค์ของภาครัฐเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ของประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์การเข้าถึงและการรับรู้ข่าวสารของประชาชนว่ามีประสิทธิผลอย่างไร (Media Used by Government Sector in the COVID-19 Epidemic Prevention Campaign in Thailand)

ผศ.อภิญญ์พัทร์ กุสิยารังสิทธิ์ กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ช่วงแรกภาครัฐใช้วิธีการส่งสารให้ประชาชนรับรู้  โดยการใช้วิธีการสื่อสารเป็นลำดับชั้น ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบบนลงล่าง (Top-down Communication) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อสื่อสารมากเท่าใด ยิ่งไม่บรรลุผลมากเท่านั้น เนื่องจากเนื้อหาข่าวสารไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติของประชาชนได้ หากเนื้อหาข่าวสารใดที่ขัดต่อความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้านจะไม่ได้รับการยอมรับ  ต่อมาภาครัฐได้เปลี่ยนการสื่อสารเป็นแบบสองจังหวะ (Two-step Flow of Information) ด้วยการนำเสนอเนื้อหาจากภาครัฐผ่านสื่อมวลชน ไปยังผู้นำความคิดเห็นในชุมชน (Opinion Leaders) โดยนำเนื้อหาสารที่ได้รับการถ่ายทอดจากสื่อมวลชนไปเผยแพร่ให้กับผู้รับสารภายในชุมชนต่อไป  อย่างไรก็ตามยังคงลักษณะของการสื่อสารจากบนลงล่างเช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบของผู้ส่งสารเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับผู้รับสารที่อยู่ในชุมชนเท่านั้น  ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังไม่ตอบสนองต่อการรณรงค์ในชุมชนมากนัก

ผศ.อภิญญ์พัทร์ กุสิยารังสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า สื่อที่เหมาะสมสำหรับการรณรงค์ของภาครัฐเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ต้องเน้นการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน โดยมีระดับการมีส่วนร่วมในฐานะผู้รับสารกับผู้ส่งสาร การรณรงค์ที่ใช้ควรเป็นแผนการสื่อสารที่ต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการสื่อสาร เมื่อกลุ่มเป้าหมายได้รับข้อมูลข่าวสารที่มากเพียงพอ จะนำไปสู่การสื่อสารในระดับที่ 2  คือโน้มน้าวใจให้กลุ่มเป้าหมายกระทำตามเนื้อหาที่รณรงค์  และระดับที่ 3 คือ การสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้การสื่อสารภาครัฐต้องเปิดช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน ทำให้ประชาชนมีโอกาสรับทราบการดำเนินงานของรัฐบาล การเผยแพร่กฎหมายใหม่ที่รัฐกำหนดขึ้น  โดยเน้นการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน เรียกว่า Public Participation เป็นการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับโครงการ หรือการดำเนินการของภาครัฐ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ให้ประชาชนมีความเข้าใจ มีความรู้สึกมีส่วนร่วม นำไปสู่การสนับสนุน และให้ความร่วมมือกับภาครัฐบาล เพื่อเน้นให้ประชาชนได้รับรู้ถึงหน้าที่ของตนเอง

“แม้ว่าเนื้อที่รัฐบาลเลือกใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับประชาชนอาจจะไม่น่าสนใจ และไม่ครอบคลุมกับเนื้อหาทั้งหมดของการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคโควิด-19  มากนัก แต่ผลสรุปของการศึกษาพบว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ และจดจำของประชาชนในสังคมได้ และสิ่งสะท้อนที่สำคัญของการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ คือการที่คนไทยรู้จักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การล้างมือที่บ่อยขึ้น และการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่ชุมชน  ซึ่งเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ เมื่อภาครัฐพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบช่องทางการสื่อสารที่ถูกต้องและเหมาะสมไปพร้อม ๆ กัน” ผศ.อภิญญ์พัทร์ กุสิยารังสิทธิ์ กล่าว

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter