Research

มทร.พระนคร ปิ๊งไอเดีย นำขุยมะพร้าวรียูสแผ่นฝ้าเพดาน แก้ปัญหาบ้านร้อน

ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนชื้น มีสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวเกือบทั้งปี จึงทำให้แผ่นฝ้าเพดาน (Ceiling Board) กลายเป็นวัสดุตกแต่งอาคาร สำหรับเป็นฉนวนเพื่อช่วยถ่ายโอนความร้อนให้กับที่อยู่อาศัยอย่างแพร่หลาย โดยแผ่นฝ้าเพดานที่เป็นฉนวนกันความร้อนจะมีส่วนผสมของเส้นใยสังเคราะห์ แต่เนื่องจากวัสดุส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงเส้นใยสังเคราะห์มีปัญหาด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้งานจากข้อมูลข้างต้นจึงทำให้  ผศ.ดร.ปราโมทย์ วีรานุกูล อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร อาจารย์อิทธิ ผลิตศิริ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และ ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แผ่นฝ้าเพดานจากเส้นใยและขุยมะพร้าวผสมน้ำยางธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติต้านทานการดูดซึมน้ำ และเป็นฉนวนป้องกันความร้อนใต้หลังคา โดยการนำน้ำยางธรรมชาติข้น 60% ชนิดพรีวัลคาไนซ์เป็นตัวประสาน  ซึ่งเป็นการช่วยชุมชนท้องถิ่นลดปริมาณขุยกะลามะพร้าวเหลือทิ้ง รวมถึงวิสาหกิจชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอาคารบ้านเรือน หรือต่อยอดผลิตสร้างรายได้ให้กับชุมชนฐานรากของประเทศได้

ผศ.ดร.ปราโมทย์ วีรานุกูล

มทร.พระนคร

อ.อิทธิ ผลิตศิริ

มทร.สุวรรณภูมิ

ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร

มทร.ธัญบุรี

ผศ.ดร.ปราโมทย์ วีรานุกูล กล่าวว่า จากการศึกษาคุณสมบัติเส้นใยและขุยมะพร้าว พบว่าเป็นวัสดุธรรมชาติที่ไม่มีสารพิษ สามารถต้านทานปฏิกิริยาจากจุลินทรีย์ ทนการกัดกร่อนจากน้ำเค็มได้ดี  อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบา และนำความร้อนต่ำ จึงมีความเป็นไปได้ในการนำมาเป็นส่วนผสมในการทำแผ่นฝ้าเพดานยิปซัม ซึ่งการทำงานเริ่มจากย่อยและคัดขนาดเส้นใยและขุยมะพร้าวให้มีความยาวที่เหมาะสม จากนั้นนำไปผสมปูนยิปซัมปลาสเตอร์ สารโซเดียมซิลิเกต น้ำยางธรรมชาติ และน้ำ ตามอัตราส่วนที่กำหนด ผสมด้วยเครื่องผสมคอนกรีต จากนั้นเทส่วนผสมใส่แบบหล่อขนาด 60x60 เซนติเมตร และปาดผิวให้เรียบ แล้วจึงทำการบ่มแผ่นฝ้าเพดานในอุณหภูมิที่กำหนดเป็นเวลา 28 วัน แล้วจึงทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.219-2552 เรื่องแผ่นยิปซัม ประกอบด้วย 1.การทดสอบแรงกดแตกตามยาวและตามขวาง 2.การทดสอบแรงต้านทานการดึงตะปู 3.การทดสอบการแอ่นตัว 4.การทดสอบการดูดซึมน้ำ 5.การทดสอบความหนาแน่น 6.สัมประสิทธิ์การนำความร้อน และ 7.การทดสอบการใช้งานจริง

ผศ.ดร.ปราโมทย์ วีรานุกูล  กล่าวอีกว่า เส้นใยมะพร้าว ขุยมะพร้าว และน้ำยางธรรมชาติที่ผสม สามารถช่วยพัฒนาคุณสมบัติของแผ่นฝ้าเพดานในด้านความต้านทานแรงกดแตกทั้งตามขวางและตามยาว แรงต้านทานการดึงตะปู และการลดการแอ่นตัว ทำให้แผ่นฝ้าเพดานที่พัฒนาสามารถผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.219-2552 เรื่องแผ่นยิปซัมประเภทไม่ทนความชื้น รวมทั้งเส้นใยมะพร้าว ขุยมะพร้าว และน้ำยางธรรมชาติที่ผสม ยังช่วยลดน้ำหนักของแผ่นฝ้าเพดานและเพิ่มความเป็นฉนวนป้องกันความร้อนได้ นอกจากนี้แผ่นฝ้าเพดานที่พัฒนายังผ่านการทดสอบการใช้งานจริง โดยสามารถนำมาติดตั้งเป็นฝ้าเพานด้วยโครงฝ้าแบบทีบาร์ (T-Bar) ทั้งนี้แผ่นฝ้าเพดานจากเส้นใยและขุยมะพร้าวผสมน้ำยางธรรมชาติที่ติดตั้ง มีพื้นผิวเรียบสม่ำเสมอ แข็งแรง และตัดให้มีขนาดตามที่ต้องการได้เช่นเดียวกับแผ่นฝ้าเพดานทั่วไปตามท้องตลาด  ทั้งนี้ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ผศ.ดร.ปราโมทย์ วีรานุกูล โทรศัพท์ 061 894 6111 และ ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร โทรศัพท์ 081 199 4705

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter