เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ผศ.ดร.ปริญญ์ บุญกนิษฐ รองอธิการบดี พร้อมด้วย ดร.ชลากร อุดมรักษาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผศ.ดร.ธนภพ โสตรโยม คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เข้าร่วมพิธีเปิดงานอาณาจักรแห่งรสชาติ : จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก “Realm of Flavor : Inspiring the Future of Global Tourism and Hospitality” โดยได้รับเกียรติจาก นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานเขตดุสิต และสำนักงานเขตบางพลัด ณ ห้องประชุม Hall 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ทั้งนี้ภายในงานยังมีกิจกรรม 4 กิจกรรมหลักที่น่าสนใจ โดยหนึ่งในนั้นคือ การจัดนิทรรศการ “การท่องเที่ยวด้านอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น” โดยราชมงคลพระนคร ได้ร่วมจัดแสดงสาธิตเครื่องหอมไทย จากผลงานของอาจารย์กิตติ ยอดอ่อน อาจารย์สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ และนักศึกษาสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และยังมีผลงานจากภาคีเครือข่ายจำนวน 11 หน่วยงานในนิทรรศการดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม การเสวนาเรื่อง “Flavours of Experience: Serving Thailand’s New Tourism and Hospitality” โดยวิทยากรจาก มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์, การจัดนิทรรศการ Street Food โดยนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและบริการ และศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และการจัดนิทรรศการ “อาณาจักรแห่งรส : การบรรจบของนวัตกรรมและรากวัฒนธรรม” นำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของสำรับอาหารไทย อีกด้วย
“นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในพิธีเปิดงานตอนหนึ่งว่า การท่องเที่ยวและบริการมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง อาหารไทยเป็นหนึ่งใน “Soft Power” สำคัญที่มีบทบาทอย่างมากต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยที่สร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ยากจะลืมให้แก่นักท่องเที่ยวไปทั่วโลก ประเทศไทยมีความหลากหลายของอาหารในแต่ละภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ที่มีรสชาติและวัตถุดิบเฉพาะตัวที่ กลายเป็นเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดใจและมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยง รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การเรียนทำอาหารไทย การเยี่ยมชมตลาดสด หรือการเข้าร่วมเทศกาลอาหาร ซึ่งล้วนเป็นประสบการณ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้เป็นอย่างดี การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออันแน่นแฟ้น ระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อไป”
พุทธชาติ/ข่าว