News

นศ.ราชมงคลพระนคร โชว์ไอเดียเครื่องประดับสุดเก๋จากขยะพลาสติก

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ เพื่อพัฒนาชุมชน สังคม ในปีนี้ อาจารย์ นักศึกษาร่วมส่งผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม และผลงานด้าน RMUT Start up Award ในการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 13 การประชุมวิชาการระดับนานาชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 12 และการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมราชมงคล ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “9 RMUT Empowering and Promoting of Sustainable Innovation and BCG Model for The Next Normal (๙ ราชมงคล เสริมพลัง ผลักดัน นวัตกรรมยั่งยืน และ ขับเคลื่อนวิถีชีวิตยุคต่อไปด้วยต้นแบบ BCG)”  จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ณ ศูนย์ประชุมนงนุชเทรดดิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ สวนนงนุชพัทยา จ.ชลบุรี โดยผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานภาคบรรยาย ระดับชาติ กลุ่มสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ศิลปกรรม และการสร้างสรรค์ ได้รับรางวัลระดับดีเด่น (Gold Award) 2 รางวัล การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในกลุ่มนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ/สุขภาพสัตว์ ได้รางวัลระดับดีมาก (Silver Award) 1 รางวัล กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านศิลปะและการออกแบบ ระดับดีเด่น (Gold Award) 1 รางวัล และระดับดี (Bronze Award) 1 รางวัล โดยหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นคือ งานวิจัยเรื่องพลาสติกกำพร้า : การสร้างสรรค์เครื่องประดับจากลวดลายกระเบื้องเคลือบสี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของนายมหรรณพ อินทสโร และนางสาวศิริวัลลิ์ ขุมบัวมาศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ราชมงคลพระนคร

มิน หรือ มหรรณพ อินทสโร เจ้าของผลงาน เล่าว่า การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยครั้งนี้มาจากปัญหาขยะพลาสติกที่มีจำนวนมากขึ้นซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่ไม่ได้คัดแยกขยะมูลฝอย รวมถึงพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายนับร้อยปีทำให้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดการ จึงนำมาสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ จากการนำพลาสติกกำพร้า เพื่อต้องการลดจำนวนขยะในปัจจุบันและเพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติกกำพร้า โดยตัวผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องประดับ อาทิ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ และต่างหู ลวดลายที่นำมาออกแบบจากกระเบื้องเคลือบสีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยที่เด่นชัด โดยได้ยกบางส่วนของลวดลายมาใช้ เช่น กระเบื้องเคลือบเป็นช่อเป็นดอก ซึ่งความยากของผลงานต้องใช้เทคนิคและความชำนาญในการตัดที่ละเอียดอ่อน การเลือกขวดพลาสติก การตอกพลาสติก การดัดพลาสติกด้วยความร้อน
นอกจากนี้ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานจากในห้องเรียนมาปรับใช้ในการทำงานเพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ หลังจากผลงานเสร็จสิ้นจึงนำมาใช้ในการถ่ายแบบหรือเดินแฟชั่นเป็นการตอกย้ำคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำ มาใช้ได้จริง ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จึงเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจที่สามารถสร้างมูลค่าได้เพิ่มมากขึ้น และยังช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter