มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) แสดงความยินดีกับ นายรัชชานนท์ รัตนิวิจิตร นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ และนายธนทัต สฤษดิ์รัตน์ นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกทีม Axis Solution ได้ร่วมแข่งขันและผ่านการคัดเลือก 1 ใน 26 ทีมจากทั่วประเทศ และรับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 200,000 บาท ในรอบ Final Pitching ภายใต้กิจกรรมการตัดสินดิจิทัลสตาร์ทอัพ ระยะ Idea Stage รอบ Final Pitching จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (depa Thailand) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยที่สามารถแปลงแนวคิดให้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ สามารถเติบโต และพร้อมแข่งขัน ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ depa
นายรัชชานนท์ รัตนิวิจิตร หรือ บอส ตำแหน่ง Founder&CEO กล่าวว่า การร่วมแข่งขันครั้งนี้ทีมได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้ชื่อ Axis Solution – AI - Powered Marketing ServiceTech (ระบบปฏิบัติการสำหรับการตลาด ที่ขับเคลื่อนด้วย AI Agents อัจฉริยะ) ทีมมองเห็นถึงปัญหาจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (SME) ภายในประเทศไทย ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ประสบปัญหาในการทำการตลาดออนไลน์ เนื่องจากขาดความสมดุลด้านเวลา งบประมาณ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เสียโอกาสทางธุรกิจและไม่สามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น การพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วย AI Agents อัจฉริยะ จะทำหน้าที่เสมือนทีมการตลาดครบวงจร โดยระบบ AI Agents หรือระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถตัดสินใจแทนมนุษย์ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเมื่อนำมาใช้หลายตัวจะทำงานร่วมกันอัตโนมัติในกระบวนการทางการตลาด ตั้งแต่การคิดและวางแผนกลยุทธ์ การสร้างสรรค์เนื้อหาจากรูปภาพและข้อความโฆษณา การดำเนินการแคมเปญโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) ติ๊กต๊อก (TikTok) จนถึงการวิเคราะห์ผลลัพธ์และเรียนรู้เพื่อปรับปรุงแคมเปญให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บอส เล่าต่อว่า นวัตกรรมที่นำมาใช้งานในการสร้างระบบซึ่งทำให้แตกต่างกว่าระบบ Automation ทั่วไปที่ทำงานตามคำสั่ง คือ เทคโนโลยี Agentic AI และ AI Agents ที่นำมาใช้ร่วมกันทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และทำงานร่วมกันได้อย่างอิสระและชาญฉลาด เช่น เมื่อป้อนคำสั่งให้ช่วยโปรโมทเมนูใหม่ของร้าน ระบบที่ถูกพัฒนาจะวางแผนตั้งแต่ช่วงเวลาในการโพสต์คอนเทนต์ การสร้างภาพ แคปชัน หลังจากนั้นระบบจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงแผนการทำงานครั้งต่อไป ซึ่งระบบสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น (Self-Improving System) จากข้อมูลและการใช้งานจริง “ผมมุ่งหวังว่าการพัฒนาระบบครั้งนี้ให้ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานการตลาดใหม่ (New Marketing Infrastructure) ที่ยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการ ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือ (SaaS Tool)” หลังจากนี้จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (MVP) ของ Axis Agentic Engine ซึ่งเป็นระบบหลังบ้านที่พัฒนาขึ้นมาเอง และจะเป็นระบบ AI หลักของโครงการ โดยจะนำไปทดสอบตลาดกับกลุ่ม SME ที่ประกอบร้านอาหาร เพื่อเก็บข้อมูล (Data) และความคิดเห็น (Feedback) มาปรับปรุงและพัฒนาระบบให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างดีที่สุด ซึ่งจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย
ฉวีวรรณ/ข่าว