Research

ผักตบชวา วัชพืชไร้ค่า แปรรูปสู่ “เส้นใย” นวัตกรรมสร้างสรรค์สิ่งทอ

วัตถุดิบจากธรรมชาติที่นำมาพัฒนาเป็นเส้นใยถักทอเป็นผืนผ้า นอกจากฝ้ายที่คุ้นเคยกันแล้ว ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ถูกนำมาวิจัยพัฒนาเป็นเส้นใยสร้างวัสดุสิ่งทอใหม่ๆ แต่ยังมีวัชพืชอีกหนึ่งชนิดที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นเส้นใยเพื่อใช้ถักทอได้ นั่นก็คือ “ผักตบชวา” โดยอาจารย์นฤพน ไพศาลตันติวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ และอาจารย์สัมภาษณ์ สุวรรณคีรี จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น  ได้ร่วมกันศึกษาพัฒนาวิจัยการผลิตเส้นใยจากผักตบชวา โดยการแยกเยื่อแอลฟาเซลลูโลส (Alpha Cellulose) และนำมาปั่นเป็นเส้นใย จนสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอและแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อาจารย์สัมภาษณ์ สุวรรณคีรี เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการวิจัย คือต้องการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภาคกลาง อาทิ ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม จากเดิมที่ได้นำลำต้นของผักตบชวามาสานเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ตะกร้า กระเป๋า  ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา จึงนำมาวิจัยพัฒนาเป็นเส้นใยเซลลูโลส และปั่นผสมกับฝ้ายเพื่อนำเส้นด้ายมาใช้ในงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า หมวก รองเท้า ผ้าเพื่อใช้บุฉากกั้นห้อง ผ้าม่าน ตะกร้า ของชำร่วย และโคมไฟ โดยได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

อาจารย์สัมภาษณ์ สุวรรณคีรี เล่าอีกว่า ผลผลิตที่ได้จากการแปรรูปผักตบชวา แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ กระดาษและผ้า กระดาษ กรรมวิธีการผลิตคือ นำผักตบชวาแบบที่มีก้านสั้น ต้มเยื่อด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) ประมาณ 1 ชม.ด้วยระบบปิด พอได้เยื่อแล้วนำไปฟอกขาวด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ 5 กรัม/ลิตร และเติมสารยึดเกาะซิลิโคนอิมัลชั่น จึงนั้นตีเยื่อกระดาษในน้ำและค่อยๆซ้อนลงตะแกรงขึ้นรูปตากไว้ให้แห้งก็จะได้กระดาษ ที่นำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กล่องของขวัญ ดอกไม้ประดิษฐ์  โดยผักตบชวา 1 กก.สามารถผลิตกระดาษได้ 10 แผ่น  ส่วนผ้า กรรมวิธีการผลิตเพื่อให้ได้เส้นใย คือ นำผักตบชวาชนิดก้านยาว ที่มีอายุประมาณ 10 เดือนมาอบด้วยโซเดียมเบนโซเอตเพื่อป้องกันเชื้อรา เมื่อแห้งแล้วนำผักตบชวามาปั่นด้วยเครื่องตีเส้นใยเพื่อแยกเซลลูโลส เมื่อได้เซลลูโลสแล้วนำไปตัดให้เป็นเส้นใยสั้น (Staple fiber) แล้วจึงนำไปเข้ากระบวนการปั่นผสมกับฝ้าย (Blow room) จากนั้นนำไปสางใย (Carding) ก็จะได้เป็นเส้นใยฝ้ายผสมผักตบชวา แล้วนำเข้ากระบวนการยืดเรียงตัว (Drawing) จากนั้นนำเส้นใยไปปั่นอีกรอบด้วยเครื่อง opened spinning ก็จะได้เส้นใยที่สมบูรณ์สำหรับถักทอ  โดยเส้นใยจากผักตบชวาที่นำไปทำผลิตภัณฑ์มี 2 อย่างคือ ใย 100 % จะมีความกระด้าง เวลาทอจะนำไปเป็นเส้นด้ายพุ่ง และใยเซลลูโลสที่ได้จากการปั่นฝ้าย 60 % และผักตบชวา 40 % จะมีความกระด้างน้อยกว่า เวลาทอจะนำไปเป็นเส้นด้ายยืน เมื่อทอเสร็จก็นำผืนผ้ามาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า หรือเคหะสิ่งทอ เป็นต้น ทั้งนี้ผักตบชวา 50 ต้น สามารถนำมาปั่นเป็นด้ายได้ 2 ไจ หรือเท่ากับ 200 เมตร ซึ่งนำมาทอผ้าได้ 1 หลา

ด้าน อาจารย์นฤพน ไพศาลตันติวงศ์ กล่าวว่า ทำการวิจัยต่อยอดเพิ่มมูลค่าโดยนำด้ายจากผักตบชวามาทักทอเป็นผืนผ้าผสมกับดิ้นทองตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับภายใต้แนวคิด “มนต์เสน่ห์แห่งเส้นใยผักตบชวา The charming of water hyacinth” ซึ่งจุดเด่นของชิ้นงาน คือเป็นงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความประณีตสวยงาม สามารถทำตามรูปแบบที่ลูกค้าต้องการได้ มีลวดลายเฉพาะตัวและมีเอกลักษณ์ผักตบชวา โดยเส้นใยจากผักตบชวาสำหรับทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ดี สวมใส่สบายและมีความแข็งแรง  ทั้งนี้ระยะแรกๆ ของการวิจัยต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะโครงสร้างเส้นใยผักตบชวามีความบอบบาง จึงจำเป็นต้องทดลองวิจัยสร้างเส้นใยให้มีความแข็งแรง มีคุณภาพที่ก้าวไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มความหลากหลายให้ผู้บริโภคที่มีความต้องการความเป็นธรรมชาติ และมีมาตรฐานการใช้งานที่ดี

อย่างไรก็ตามอยากส่งเสริมให้นำผักตบชวามาผลิตกันให้มากๆ เพราะวัตถุดิบมีมาก ราคาถูก หาได้ง่าย หากทุกคนร่วมกันทำจะช่วยลดปริมาณผักตบชวาที่มีอยู่ลงได้ และยังเป็นการช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติให้เหมาะสม

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter