News

นศ.คณะสื่อสารฯ ผุดเกมของคนชอบเรื่องผีกับเทคโนโลยี VR

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) เป็นสถานศึกษาที่มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้พร้อมเป็น "นวัตกรบูรณาการ" ที่มีความรอบรู้ มีความสามารถในการปรับตัว และรับมือกับความท้าทายได้อย่างรวดเร็ว จึงมุ่งมั่นผลักดันศักยภาพนักศึกษาผ่านการเรียนการสอนโดยการจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับโลกแห่งอนาคตในทุกมิติ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝนและลงมือปฏิบัติจริง เตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน โดยล่าสุดสาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน จัดนิทรรศการ Multimedia Exhibition ซึ่งเป็นการแสดงผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยมีการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีโลกเสมือน Virtual Reality (VR) มาสร้างสรรค์ผลงานเทคโนโลยีความจริงเสมือนบ้านผีไทย ซึ่งเป็นผลงานของนางสาวสิรินลักษณ์ ตั้งวัฒนดิลกกุล และนางสาวณพิชชา สมดังใจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ราชมงคลพระนคร

นางสาวสิรินลักษณ์ ตั้งวัฒนดิลกกุล เล่าว่า โลกของ Metaverse เป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงที่มีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างหลากหลาย อาทิ การทำงาน การศึกษา ความบันเทิง และโลกของเกม ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะทำเกมบ้านผีไทย โดยใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือนเข้ามาใช้ในการเล่นเกม ซึ่งผู้เล่นจะได้เดินสำรวจภายในบ้านของครอบครัวหมอผี และมีภารกิจปลดปล่อยกุมารที่ถูกขังไว้ในบ้านหลังนี้ ผ่านการเล่นในรูปแบบ VR ซึ่งจะเพิ่มความสนุกให้กับผู้เล่นตัดขาดออกจากสภาพแวดล้อมปัจจุบันและเข้าไปสู่ภาพที่จำลองขึ้นมา จะสามารถสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ผสมผสานกับบรรยากาศและเสียงที่ใช้ประกอบ เพื่อเพิ่มความตื่นเต้น ผู้เล่นมีความรู้สึกร่วมกับสิ่งเหล่านั้นได้ เมื่อย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของการทำเกมมาจากความชอบอ่านเรื่องผี และมองว่าปัจจุบันคนไทยเริ่มค่อย ๆ ลืมเรื่องราวพื้นบ้านที่เป็นตำนานเล่าขานกันมา เช่น ผีท้องถิ่น ตำนานพื้นบ้าน ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้คนในสังคมบางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องงมงาย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยที่น่าเผยแพร่ให้รู้จักมากขึ้นถึงเรื่องราวความเป็นมาของตำนานนั้น ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไทย

นางสาวณพิชชา สมดังใจ กล่าวว่า การทำงานครั้งนี้ใช้ระยะเวลาถึง 8 เดือน โดยมีขั้นตอนการศึกษาข้อมูลของผีพื้นบ้านไทย การเขียนบท การปั้นตัวละคร การปั้นโมเดลที่ใช้ในฉาก บันทึกเสียงพากย์ ทำเสียงประกอบฉาก และเข้าสู่กระบวนการทำเกม ผลงานดังกล่าวต้องใช้ความรู้จากในห้องเรียนและนอกห้องเรียนนำมาประกอบกัน โดยเฉพาะเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาอย่างโปรแกรม Unreal engine ใช้สำหรับสร้างตัวพิพิธภัณฑ์ VR โปรแกรม Blender ใช้ในการปั้นตัวนักแสดง และสุดท้ายชุดVR ใช้สำหรับการทดสอบงาน ซึ่งบางส่วนได้เรียนพื้นฐานจากในห้องเรียน แต่ในบางส่วนจะต้องเรียนเพิ่มเติมจากโลกออนไลน์ เพื่อเสริมทักษะในการทำงาน การทำโปรเจคในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และความอดทนในการทำงาน รวมถึงได้รู้จักตนเองมากขึ้นว่าชอบทำงานประเภทไหนอีกด้วย

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter