News

ราชมงคลพระนคร ร่วมลงนาม CEA และ ราชมงคล 9 แห่ง ผนึกกำลังพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์ บ่มเพาะนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่สู่ตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์  กับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง  ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Virtual Media Lab (VML) ชั้น 4

โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสนับสนุนระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ผ่านเครือข่าย miniTCDC ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มเพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการออกแบบของ CEA เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงฐานข้อมูล การใช้พื้นที่สร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรและทักษะที่เกิดจากการบูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ ไปพร้อมกับการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงเพิ่มโอกาสการฝึกงานของนักศึกษาผ่านเครือข่ายและโครงการแลกเปลี่ยนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการบ่มเพาะบุคลากรสร้างสรรค์ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานสร้างสรรค์ในอนาคต

สำหรับพิธีลงนามฯ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ รศ.ดร. อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ทั้งนี้การลงนาม MOU ในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ให้เติบโตก้าวสู่ตลาดแรงงานสร้างสรรค์ในอนาคตได้อย่างมั่นใจ เต็มเปี่ยมด้วยทักษะองค์ความรู้รอบด้านที่ทันยุคสมัย ตอบโจทย์ตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปัจจุบัน พร้อมยกระดับมาตรฐานแรงงานสร้างสรรค์ของไทยให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศต่อไป

พุทธชาติ/ข่าว

Cr.ภาพข่าว : Creative Economy Agency