News

ราชมงคลพระนคร จับมืออาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ยกระดับการศึกษา – วิจัย – นวัตกรรม

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร (สอก.) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย (MOU) โดยมี ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีราชมงคลพระนคร เป็นประธานลงนามความร่วมมือกับ ดร.ชมพูนุช บัวบังศณ ผู้อำนวยการ สอก. ในการผลิตบุคลากร การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการวิจัย เพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรม

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี กล่าวว่า ราชมงคลพระนครเดิมเป็นสถาบันอาชีวะศึกษาจัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพและปรับเปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันจัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับปริญญาตรี ระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งยังคงยึดมั่นในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้วิสัยทัศน์ ราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี นวัตกรรม และการบูรณาการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้มีการลงนามความร่วมมือผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ในการผลิตบุคลากรของสถาบัน ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ในสาขาขาดแคลนตามนโยบายรัฐบาล และความต้องการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งในภาคปกติ (เวลาราชการ) หรือภาคพิเศษ และด้านวิชาการโดยการจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน ในลักษณะปริญญาที่สอง (Dual Degree) สำหรับผู้สำเร็จหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ให้สามารถเป็นการศึกษาควบคู่หรือการศึกษาเพิ่มเติมในรูปแบบการสะสมหน่วยกิตตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังส่งเสริมทางด้านการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ของสถาบันการอาชีวศึกษาฯ เพื่อรับโควตาเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ซึ่งจะมีการคัดเลือกและจัดการเรียนการสอนร่วมกัน โดยสามารถเทียบโอนรายวิชาที่สำเร็จจากสอก. กับสาขาวิชาที่เปิดสอนในหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศบ.) บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) ครุศาสตรอุตสาหกรรมบัณฑิต (ค.อ.บ.) ในสาขาที่สัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย
อธิการบดี กล่าวต่อว่า ด้านการวิจัยได้มีการส่งเสริมการวางแผนและต่อยอดร่วมกันในการบรูณาการงานวิจัยต่าง ๆ ระหว่างศูนย์วิจัยและบริการด้านนวัตกรรมของหน่วยงานเพื่อบูรณาการองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน ตลอดจนผลักดันการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่มีคุณภาพเหมาะสม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อประเทศได้ ด้านการฝึกอบรมองค์ความรู้เฉพาะด้านและหลักสูตรบูรณาการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ในระดับ Certificate และ Non Degree Course (Re-Skill/ Up-Skill) ร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter