Research

มทร.พระนคร ถ่ายทอดนวัตกรรมม้วนเส้นด้ายยืน หยุดปัญหาผ้าสะท้าน ช่างทอหนองบัวลำภู ยกระดับศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

ก่อนจะทอผ้าแต่ละผืนต้องเตรียมเส้นด้ายยืน ต้องใช้แรงงาน 4-6 คน เพื่อจัดการเส้นด้ายม้วนจัดระเบียบเข้ากี่ทอผ้า ยังต้องใช้พื้นที่กว้างตามความยาวผืนผ้า หากต้องการม้วนผ้ายาว 20 เมตร ต้องใช้พื้นที่ 25 เมตร  โดยผ้าไหมแต่ละผืนใช้เวลานานหลายเดือน แม้ผืนผ้ามีลวดลายสวยงาม คนทอใส่ใจทุกรายละเอียด ต่อให้ลวดลายสวยประณีตเพียงใด ถึงเวลานำไปขายกลับถูกกดราคา  สาเหตุเป็นเพราะการขึ้นด้ายยืนบางเส้นตึงหย่อนไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผ้าทอเกิดการสะท้าน ผืนผ้าไม่สม่ำเสมอขอบผ้า มีรอยย่น จึงทำให้มักถูกกดราคารับซื้อ

ผศ ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ อาจารย์คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เผยถึงที่มาของเครื่องม้วนเส้นด้ายยืน ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า “หลังลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านเพื่อสังเกตเกิดจากจุดใด ทำไมผ้าไหมทอทั้ง ๆ  ที่เนื้อผ้าดีมีความประณีตลวดลายสวยงาม กลับขายไม่ได้ราคาตามที่ตั้งเกณฑ์ไว้   นั่นคือปัญหาเกิดจากเครื่องมือแบบเก่า การขาดแรงงานซึ่งต้องใช้หลายคนช่วยกันขึ้นเส้นด้ายพร้อมกันและต้องทำงานให้เสร็จรวดเดียวจบ ห้ามทิ้งกลางคัน เพราะอาจมีปัญหาลมพัดใบไม้ปลิว สัตว์เลี้ยงในบ้านเข้ามาสร้างปัญหา และแต่ละครั้งที่ขึ้นด้ายยืนต้องจัดเตรียมสถานที่กว้าง ๆ ตามความยาวของผ้า” โดยหลังพบปัญหาหลัก ๆ จึงตั้งโจทย์สร้างเครื่องม้วนด้ายยืน เน้นใช้พื้นที่ แรงงานน้อย ทำงานสะดวก โดยเริ่มแรกคิดออกแบบเครื่องม้วนด้ายยืน หน้ากว้าง 2 เมตร ความยาว 1.50 เมตร สูง 1.20 เมตร ความยาวตัวเครื่องถึงม้าบีบเส้นด้าย 4 เมตร น้ำหนักเครื่อง 200 กก.การติดตั้งใช้วิธียึดนอตติดกับพื้น ป้องกันการเคลื่อนที่ขณะทำงาน ติดตั้งไดมิเตอร์วัดความตึงเส้นด้ายให้ทุกเส้นตึงสม่ำเสมอ วิธีนี้ป้องกันไม่ให้เส้นด้ายยืนตึงหรือหย่อนเกิน

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ  กล่าวอีกว่า ส่วนการม้วนเส้นด้ายเข้าหัวม้วน จะใช้มอเตอร์เป็นตัวควบคุม สามารถม้วนเส้นด้ายทั้งลักษณะแบนและหัวเพลา ควบคุมการทำงานด้วยแรงงาน 1 คน การขึ้นด้ายยืนทำงานและหยุดได้ทุกเวลาตามที่ต้องการ ขณะทำงานหากมีเส้นด้ายขาด ระบบเซ็นเซอร์จะบังคับให้เครื่องหยุดการทำงาน หลังต่อเส้นด้ายเสร็จเครื่องจะทำงานต่อเนื่อง โดยที่เส้นด้ายยืนทุกเส้นมีความตึงสม่ำเสมอ สามารถขึ้นด้ายยืนยาว 200-300 เมตร

อย่างไรก็ตาม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ได้เสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดยนำนวัตกรรมม้วนเส้นไหมยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  ยกระดับคุณภาพการผลิตผ้าพื้นเมืองที่ครอบคลุมกระบวนการ ตั้งแต่การเตรียมเส้นยืนก่อนการทอ การออกแบบอุปกรณ์ม้วนเส้นไหม และการทอผ้า  โดยหลังจากที่ได้นำไปส่งเสริมให้ชาวบ้านโนนหว้าทอง อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าไหมที่สามารถนำนวัตกรรมไปผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในกระบวนการผลิตแบบใช้งานจริง ซึ่งจากการติดตามความสำเร็จของการนำนวัตกรรมเทคนิคการม้วนเส้นด้ายยืน ไปใช้ในการเพิ่มศักยภาพชุมชน  ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มมีรายได้ในการผลิตผ้าพื้นเมือง เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนทอผ้าเป็นรายได้ในครัวเรือน ปัจจุบันยังรับจ้างม้วนด้ายยืน 50 เมตร สร้างรายได้ชั่วโมงละ 500 บาท และและยังทำให้ด้ายยืนที่นำไปทอได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจได้รับการตอบรับจากหน่วยงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชน นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายภายนอกชุมชนอย่างต่อเนื่อง  วิสาหกิจชุมชนใด ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่  โทรศัพท์ 08-3788-9569

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter