สำเร็จแล้ว!!! รถยนต์ไฟฟ้ารักษาพลังงานต้นแบบ คันแรกของราชมงคลพระนคร

            ทีมนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการเพื่อความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบคันแรก ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมใช้นวัตกรรมยืนยันเจ้าของรถแบบสแกนเส้นเลือดดำ หรือ Vein Scanner สำหรับสตาร์ทรถยนต์ไฟฟ้าและระบบรักษาความปลอดภัย

            รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า จากนโยบาย Thailand 4.0 โดยรัฐบาล มหาวิทยาลัยได้ขานรับและยืนยันที่จะขับเคลื่อนราชมงคลพระนครไปสู่การผลิตบัณฑิตรองรับตลาดแรงงาน 4.0 โดยกำหนดเป็นนโยบายการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยออกมาเป็น RMUTP 4.0 หนึ่งในนั้นคือโครงการที่จะนำไปสู่นวัตกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างโครงการการสร้างรถยนต์ไฟฟ้ารักษาพลังงานต้นแบบคันแรกของราชมงคลพระนคร

dsc_8320

            ดร.ปริญญ์ บุญกนิษฐ ผู้ช่วยอธิการบดีและในฐานะอาจารย์ผู้ดูแลโครงการกล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าฟ้าต้นแบบคันนี้ได้ถูกผลิตขึ้นเพื่อรองรับและตอบโจทย์เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจุดเด่นคือเป็นรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทั้งทางเสียง หรือทางอากาศ เนื่องจากในระหว่างการสตาร์ทรถหรือการขับขี่ เครื่องยนต์จะมีเสียงที่เงียบ อีกทั้งองค์ประกอบส่วนต่างๆของรถยนต์ เช่น แบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีตัวใหม่ล่าสุดคือ แบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ฟอสเฟต เป็นแบตเตอรี่ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากสารฟอสเฟตเป็นสารที่มีอยู่ทั่วไปในอากาศ อีกทั้งแบตเตอรี่ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป สามารถชาร์จได้ 2,000 ครั้งต่ออายุการใช้งาน หรือชุดขับเคลื่อนที่ใช้มอร์เตอร์แบบกระแสสลับ (Induction Motor) ข้อดีคือทำให้การขับขี่นั้นลื่นไหลไม่กระตุกเหมือนการขับรถกอล์ฟ รวมไปถึงชุดควบคุมระบบทำความเย็นที่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปตรงที่รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ไม่ใช้ Air Compressor ในการอัดอากาศ เพราะAir compressor จะต้องใช้สารเคมีเข้ามาช่วยในการทำความเย็น ถ้าหากสารเคมีดังกล่าวหลุดไปในอากาศก็จะมีผลไปทำลายชั้นบรรยากาศได้ ทางทีมงานจึงหันมาใช้ระบบการทำความเย็นแบบ Thermal Electric Cooler เป็นระบบการทำความเย็นที่ไม่ใช้สารเคมี ใช้น้ำวิ่งในระบบเพื่อระบายความร้อนแทนการใช้สารทำความเย็น โดยจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 25 -26 องศาเซียลเซียส

            นอกจากนี้ระบบการสตาร์ทรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบยังได้นำนวัตกรรมการยืนยันตัวบุคคลโดยใช้เทคโนโลยีที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่ามาใช้ คือการสแกนเส้นเลือดดำ (Vein Scanner) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีการตรวจสอบลักษณะบุคคลมาประยุกต์ใช้กับสมองกลฝังตัวของยานยนต์ ผ่านการศึกษาหลักการทำงานของระบบอ่านเส้นเลือดดำ จากนั้นนำโมดูลของระบบอ่านเส้นเลือดดำมาสร้างชุดควบคุมเพื่อเชื่อมต่อกับสมองกลฝังตัวภายในรถยนต์ไฟฟ้า และทำการพัฒนาโปรแกรมการตรวจสอบลักษณะบุคคล พร้อมเก็บข้อมูลของผู้ที่ทำการสแกน โดยสามารถดูข้อมูลผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตได้ด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น ซึ่งระบบการยืนยันตัวบุคคลนี้มีความแม่นยำถึง 95% และมีระดับความปลอดภัยสูงถึง 99% เนื่องจากเส้นเลือดดำของคนเรานั้นมีลักษณะแตกต่างกัน เมื่อทำการใส่ข้อมูลลงไปในระบบ ระบบจะทำการสแกนเส้นเลือดด้วยการปล่อยรังสีอินฟาเรดคลื่นสั้นออกมา จากนั้นจะทำการแปลงลายเส้นเลือดดำที่ได้เป็นภาพแล้วจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล หากลายเส้นเลือดดำที่สแกนนั้นมีข้อมูลที่ตรงกับฐานข้อมูลที่มีอยู่รถยนต์ไฟฟ้าก็จะสตาร์ทขึ้นมาโดยอัตโนมัติ สำหรับการออกแบบโครงสร้างตัวรถดร.ปริญญ์ ได้กล่าวว่า การวิเคราะห์โครงสร้างความแข็งแรงรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบคันนี้ได้ใช้วิธีการไฟไนต์เอลิเม้นต์ เพื่อวิเคราะห์ความเค้น ความเครียด และการแอ่นตัวของโครงสร้าง โดยรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบคันนี้สามารถรับน้ำหนักได้ 1,000 -1,200 กิโลกรัม มี 2 ทีนั่ง วิ่งได้ด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 50 กม./ชั่วโมง

            ถือได้ว่าผลงานรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบจากราชมงคลพระนครคันนี้สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของชีวิตในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทั้งกะทัดรัด อนุรักษ์พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และโดดเด่นด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย รวมไปถึงการออกแบบที่ร่วมสมัยเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังเป็นการการันตีคุณภาพการศึกษาของราชมงคลพระนครที่มุ่งเน้นการผลิตนักศึกษานักปฏิบัติ แบบ Think Creatively Do Professionally ได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-665-3777 ต่อ 6932

dsc_8412dsc_8325 dsc_8266 dsc_8289