News

มทร.พระนคร จับมือ 7 ภาคีเครือข่าย รวม 72 หน่วยงาน ร่วมผลิตและพัฒนาบุคลากร รองรับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 อาจารย์กุลยศ สุวรรณโรจน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสโมสรและหอประชุมกระทรวงคมนาคม โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีหน่วยงานที่ร่วมลงนาม 7 ฝ่าย ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง , สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ , สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) , หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง , สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน , สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน
สำหรับขอบเขตความร่วมมือ ได้แก่ 1) พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านระบบรางระหว่างผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางและสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา 2) สนับสนุนการเรียน การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงการสหกิจศึกษา 3) ส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว 4) วิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบราง และการผลิต คิดค้นชิ้นส่วนหรือนวัตกรรมด้านระบบราง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางระหว่างหน่วยงาน 5) สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้านระบบราง 6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการในประเทศให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพวัสดุชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระบบรางให้ครอบคลุมการขนส่งทางรางของประเทศ 7) จัดทำมาตรฐานด้านการขนส่งทางรางและมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง มาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระบบรางในประเทศ 8) สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า 9) ใช้ทรัพยากร ชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่สามารถใช้ร่วมกันได้ 10) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 11) ร่วมสร้างระบบนิเวศและโมเดลธุรกิจระบบราง
บันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มีระยะเวลาความร่วมมือทั้งสิ้น 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2569) ซึ่งภายหลังลงนามความร่วมมือแล้วภาคีทั้ง 7 ฝ่าย จะตั้งคณะกรรมการร่วม (Steering Committee) โดยมีอธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของความร่วมมือต่อไป อันจะส่งผลให้การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางของไทยในอนาคตก้าวหน้าและพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งจะสนับสนุนให้บุคลากรด้านระบบรางของไทยมีศักยภาพ สามารถสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ ด้านระบบรางไปสู่การปฏิบัติ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter