Research

คหกรรมศาสตร์ฯ มทร.พระนคร  วิจัยเปลือกทุเรียนเหลือทิ้ง พัฒนาแป้งปั้นสำหรับงานศิลปประดิษฐ์

ประเทศไทยเป็นแหล่งส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการส่งออกผลไม้สด 113,124 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป 50,606 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  (ม.ค.-ส.ค. 2562)  ไทยส่งออกทุเรียนสด 40,920 ล้านบาท เพิ่ม 54.52%  และยังพบว่าการส่งออกทุเรียนของไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องสูงถึง 37.3% ทำให้ครองแชมป์ส่งออกมากที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลข้างต้นทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียนส่งออก มีปริมาณเปลือกทุเรียนเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ผศ.อภิรัติ โสฬศ  อาจาร์นิอร ดาวเจริญพร  และอาจารย์รุ่งฤทัย รำพึงจิต จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกันวิจัยเปลือกทุเรียนเหลือทิ้ง พัฒนาเป็นแป้งปั้นสำหรับงานหัตถกรรม สร้างสรรค์ศิลปประดิษฐ์ของไทย

ผศ.อภิรัติ โสฬศ กล่าวว่า จากการที่ทุเรียนเป็นไม้ผลเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของไทย ทำให้มีเปลือกทุเรียนเป็นขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรมากมาย ทีมวิจัยจึงมีแนวคิดในการนำส่วนสีขาวข้างในเปลือกทุเรียนมาใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาเป็นส่วนผสม สำหรับการทำแป้งปั้นสำหรับงานศิลปประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ประเภทของตกแต่งบ้าน และประเภทเครื่องประดับ เช่น ขนมนามมงคล ดอกไม้ไทยกลิ่นหอม เพื่อสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่แนวทางในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนหรือผู้สนใจต่อไป  ทั้งนี้จากการศึกษาลักษณะทางกายภาพของเนื้อติดเปลือกทุเรียน มีเนื้อสัมผัสที่หนานุ่ม เมื่อนำไปตากแดด หรืออบแห้ง บดเป็นผง จะได้ผลิตภัณฑ์ เจลโพลิแซคคาไรด์ (Polysaccharide) ลักษณะเป็นกากใย สามารถพองตัวและละลายน้ำได้ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่ดีในการนำไปทำงานศิลปประดิษฐ์ประเภทงานปั้น

ผศ.อภิรัติ โสฬศ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการวิจัยเริ่มจากนำส่วนสีขาวด้านในของเปลือกทุเรียนพันธุ์หมอนทองมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ  จากนั้นนำไปตากแดด หรืออบให้แห้ง ด้วยเครื่องอบลมร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำมาบดเป็นผงละเอียด และนำไปร่อน เสร็จแล้วนำมาทดสอบความชื้นโดยรวม ซึ่งต้องได้ค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 14  จากนั้นศึกษาการใช้แป้งปั้นจากเปลือกทุเรียน  ในอัตราส่วนผสม/กรัม  ประกอบด้วย แป้งเปลือกทุเรียน แป้งข้าวเหนียว กาวลาเท็กซ์ สารกันบูด น้ำมันมะกอก เพื่อคัดเลือกสูตรที่เหมาะสมในการผลิตของที่ระลึก  ทั้งนี้จากการประเมินคุณลักษณะของเนื้อแป้ง โดยศึกษาลักษณะทางกายภาพ ประกอบด้วย การทดสอบแรงอัด การทดสอบค่าต้านแรงกด และการทดสอบแรงดึง พบว่า เนื้อแป้งปั้นในด้านความทรงตัวมีค่าเฉลี่ยในระดับมาก อยู่ที่ 4.33 ด้านความเหนียว อยู่ที่ 4.20  ด้านความนิ่ม อยู่ที่ 3.93 และค่าความเนียน อยู่ที่ 3.80  ซึ่งเป็นค่าที่เหมาะสมที่จะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก รวมถึงมีคุณลักษณะของเนื้อแป้งใกล้เคียงกับเนื้อแป้งปั้นขนมปัง แป้งปั้นดินไทย หรือแป้งปั้นดินญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม งานปั้นเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ต้องใช้วัสดุที่มีความเหนียวและนิ่ม วัสดุที่จะนำมาปั้นจะต้องสามารถยึดจับเป็นก้อนหรือเกาะเป็นตัว เป็นแท่ง และทรงตัวอยู่ใด้ รวมทั้งต้องมีความคงทนไม่แตกง่ายทั้งในขณะปั้นและเมื่อปั้นเสร็จแล้ว ซึ่งนับเป็นการเพิ่มมูลค่าสิ่งเหลือทิ้ง ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ผศ.อภิรัติ โสฬศ โทรศัพท์ 02 281 9756 - 8  และ 081 494 8802

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter