Researchการมีส่วนร่วม

การศึกษาและพัฒนากระบวนการใช้ประโยชน์จากเศษผ้าไหมเหลือทิ้ง สู่ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านเพิ่มมูลค่าผ้าไทย  

ในแต่ละปีมีเศษขยะจำพวกเศษผ้าเหลือทิ้งจากการผลิตในอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการตัดเย็บ หรือวิสาหกิจชุมชนต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเศษผ้าเหลือทิ้งดังกล่าวนานวันก็จะเสื่อมสภาพไม่เกิดประโยชน์และคุณค่า กลายเป็นขยะและเกิดปัญหาโลกร้อน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ผศ.ยุวดี พรธาราพงศ์  และอาจารย์อาณัฏ ศิริพิชญ์ตระกูล อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ เกิดแนวคิดนำเศษผ้าเหลือทิ้งจากการตัดเย็บ มาเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ประดับตกแต่งบ้าน และของที่ระลึก เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งประดับบ้านที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ผศ.ยุวดี  พรธาราพงศ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจผู้ประกอบการร้านตัดเย็บเสื้อผ้าเมื่อมีเศษวัสดุสิ่งทอเหลือทิ้งจากจะนำไปจำหน่ายในราคาถูก หรือบางแห่งก็นำไปทิ้ง ทั้งนี้เศษผ้าจากกระบวนการผลิตสิ่งทอจัดเป็นขยะมูลฝอยทั่วไปในลักษณะขยะแห้งที่สามารถติดไฟได้ และเป็นแหล่งทำให้เกิดมลพิษ และขยะเหล่านี้มีปริมาณที่นำกลับมาใช้ประโยชน์น้อย ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ประดับตกแต่งบ้าน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มมูลค่าให้เศษวัสดุแล้วยังเป็นการลดปริมาณขยะ และช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มอีกด้วย  ทั้งนี้จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนแปรรูป และตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ หลายชุมชนมีความเห็นสอดคล้องที่มีความสนใจนำเศษผ้าเหลือทิ้งจากการตัดเย็บ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดจำนวนขยะเหลือทิ้ง โดยทีมวิจัยได้สังเกตพบเศษผ้าไหมจำนวนมากถูกทิ้งอย่างไร้ค่า จึงคิดเพิ่มมูลค่าโดยนำมาประยุกต์พัฒนารูปแบบเป็นผลิตภัณฑ์ประดับตกแต่งบ้าน และของที่ระลึก อาทิ พวงกุญแจ เนื่องจากผ้าไหมเป็นสินค้าที่มีราคาสูง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า และเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่มีการถ่ายทอดจากบรรพชนสู่สังคมยุคปัจจุบันที่ผู้คนต่างนิยมนำมาสวมใส่ หรือมอบเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ ตลอดจนการทอไหมกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในชาวต่างชาติ ด้วยเอกลักษณ์ของลวดลายที่ทอแสงเป็นประกาย เมื่อนำมาประยุกต์ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าตกแต่งบ้าน นอกจากเกิดความสวยงามหรูหราแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เศษผ้าเหลือทิ้งสูงขึ้นตามไปด้วย

ผศ.ยุวดี  พรธาราพงศ์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการทำงานได้ศึกษาลักษณะคุณสมบัติของเศษผ้าไหมและการใช้ประโยชน์จากเศษผ้าไหมเหลือทิ้งจากการตัดเย็บ นำมาออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อประดับตกแต่งผนังบ้าน ต้องการแสดงถึง จังหวะลีลา สีสันความเป็นไทย โดยการนำเศษผ้าไหมมาคัดสรรให้ได้สีสันของผ้าในโทนสีที่มีความกลมกลืนกันเช่น เศษผ้ากลุ่มโทนสีเย็น  กลุ่มโทนสีร้อน และกลุ่มผ้าที่มีลวดลาย ใช้ความสัมพันธ์ทางศิลปะเพื่อเน้นสร้างจุดสนใจ จังหวะ สี ลวดลาย ที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่าง การแทรกสีที่ตัดกันของผ้าเพื่อให้เกิดการตัดกันของสี ภาพจะดูไม่น่าเบื่อ การจับคู่สีเน้นปริมาณสีของผ้าในโทนเดียวกันมีทั้งน้ำหนักสีที่เข้ม และอ่อนต่างกัน สร้างจุดเด่นโดยคำนึงถึงภาพรวมความสวยงามและเหมาะสม ให้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งประดับบ้านมีองค์ประกอบของสีสันและลวดลายผ้าไหมแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของไทย โดยนำเศษผ้ามาตัดเป็นสี่เหลี่ยมและทำเป็นก้อนกลมโดยใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์เป็นส่วนในของผ้าแล้วเย็บปิด จะได้ลูกกลมที่มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของเศษผ้า จากนั้นนำมาจัดวางประกอบกับวัสดุอื่นๆ เช่นกรอบผ้าแคนวาสรูปร่างต่างๆ

นับเป็นการพัฒนาชุมชนให้เกิดกระบวนการสร้างองค์ความรู้และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการผสมผสานความเป็นศิลปะสื่อผสม (Mixed Media Art) รวมถึงช่วยรักษาสภาวะแวดล้อมด้วยการนำเอาเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการตัดเย็บมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผสมผสานกับความเป็นเอกลักษณ์ไทย เพื่อเป็นแนวทางนำไปผลิตเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ต่อไป ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ผศ.ยุวดี  พรธาราพงศ์ โทรศัพท์ 086 124 0823

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter