Research

“เพ็ญชวา” ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยผักตบชวา ยกระดับวัชพืชไร้ค่า สู่พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ชุมชน

จากความสนใจเกี่ยวกับผักตบชวาในแหล่งน้ำที่มีอยู่มากในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง เป็นโจทย์ให้อาจารย์สัมภาษณ์ สุวรรณคีรี อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ราชมงคลพระนคร คิดค้นวิธีแปรรูป เพื่อให้เกิดความต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่กลุ่มผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม อ.โพธิ์ทอง และกลุ่มผลิตกระดาษสา อ.วิเศษไชยชาญ  จ.อ่างทอง ได้นำผักตบชวาในแหล่งน้ำมาสานเป็นงานหัตถกรรม โดยการนำนวัตกรรมการวิจัยเข้ามาใช้ในกระบวนการจนก่อเกิดเป็นเส้นใยจากผักตบชวา และนำมาทอเป็นผืนผ้าสร้างมูลค่าเพิ่มในชิ้นงาน

อาจารย์สัมภาษณ์ สุวรรณคีรี กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน โจทย์ที่ชาวบ้านต้องการคือ เทคนิคการแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่ดีกว่า จึงได้ศึกษาผักตบชวาเป็นเวลา 1 ปี จนกระทั่งพัฒนาเครื่องจักรสำหรับตีเกลียวเพื่อสร้างเส้นใย จุดนี้เองจึงทำให้ผลิตภัณฑ์จักรสานจากผักตบชวาจึงมีลวดลายที่สวยงามแปลกตาไปจากเดิม เมื่อนำไปทอเป็นผ้าจึงเสมือนฝ้ายมากที่สุด ซึ่งในอนาคตหากภาครัฐสนับสนุนอย่างจริงจังน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจแน่นอน เพราะศักยภาพของผักตบชวาที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จากจำนวน 1 เป็น 1,000 ต้น ได้ภายใน 1 เดือนตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่ต้องการการดูแล ดังนั้นหากนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงไม่มีวันขาดแคลนอย่างแน่นอน

“ผมลองนำเส้นใยผักตบชวาขึ้นรูปเป็นพรมปูพื้น ฉากกั้นห้อง ผ้ารองโต๊ะ ผ้าม่าน มู่ลี่ โคมไฟ กระเป๋า หมวก และรองเท้า พบว่า สามารถแปรรูปเป็นงานลักษณะนั้นได้ดีกว่าการทำเป็นเสื้อผ้า และนำมาสวมใส่โดยตรงเพราะความกระด้าง แต่อาจต้องมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้มีคุณสมบัติการใช้งานที่ทนทานยิ่งขึ้น อาทิ การทนความร้อน การต้านการลามไฟ การสะท้อนน้ำ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทนต่อการใช้งานจริง ก่อนที่จะขยายผลเชิงพาณิชย์” อาจารย์สัมภาษณ์ สุวรรณคีรีกล่าว

อาจารย์สัมภาษณ์ สุวรรณคีรี กล่าวว่า จากองค์ความรู้ทั้งหมดทั้งมวลที่พัฒนาถูกขยายผลจนเป็นศูนย์เรียนรู้ผักตบชวา ภายใต้แบรนด์เพ็ญชวา โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ภายในศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มทร.พระนคร และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนให้กลุ่มชาวบ้านในอ.บางเลน จ.นครปฐม และอ.สรรพยา จ.ชัยนาท ด้วยการแปรรูปเส้นใยถักทอเป็นผืนผ้า และขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้า กระเป๋าหลากหลายตามความต้องการ นอกจากนี้เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ยังสอนเรื่องการทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การเขียนแผนธุรกิจ การคำนวณต้นทุน การตั้งราคาขาย การวางแผนเรื่องการจำหน่าย เพื่อประโยชน์ในการเสนอขอรับทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงินได้เองในอนาคต ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

ด้านนายดำรง ศรีสวัสดิ์ (ลุงโต) หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมบ้านบางหวาย อ.บางเลน จ.นครปฐม กล่าวว่า ภายในกลุ่มมีสมาชิก 20 คน จากเดิมชาวบ้านนำผักตบชวามาสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่สินค้าในท้องตลาดมีมากและรูปแบบไม่แตกต่างกันนัก จึงต้องการสร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น จนมีโอกาสเข้าฟังการบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยจากผักตบชวาจากอาจารย์สัมภาษณ์ ทั้งนี้หลังจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเส้นใย รวมถึงการใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีเพื่อป้องกันเชื้อราในเส้นใยผักตบชวา สินค้าของกลุ่ม อาทิ รองเท้าคัทชู กระเป๋าเป้ โคมไฟ แจกันเปเปอร์มาเช่ เป็นที่ตอบรับอย่างดีจากลูกค้ากลุ่มชาวบ้านมีรายได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งตอนนี้ทางกลุ่มกำลังพัฒนาผืนผ้าผักตบชวาให้เป็นผลิตภัณฑ์โอทอปประจำจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ลวดลายเฉพาะตัวอีกด้วย  หากท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจารย์สัมภาษณ์ สุวรรณคีรี โทรศัพท์ 091-734-8378

Share this...
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter